Abstract:
การศึกษาวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการและรูปแบบต่างๆ ในการรักษาโรคเต้านมอักเสบแบบแสดงอาการด้วยยาปฏิชีวนะ และปัจจัยของตัวโคด้านต่างๆ ที่มีผลกับการหายของอาการเต้านมอักเสบแบบแสดงอาการโดยการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน ส่วนของการศึกษาที่ 1 ศึกษาบันทึกข้อมูลย้อนหลังจำนวน 1,156 ข้อมูลเต้านมอักเสบจากโครีดนม 400 ตัว ระหว่างปี 2546-2557 ในฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ โดยใช้ข้อมูลตัวโค เช่น อายุโค ลำดับที่ของการให้นม วันคลอด ข้อมูลปริมาณน้ำนม ได้แก่ ปริมาณน้ำนมรายวัน (milk yield) ปริมาณน้ำนมรายวันที่มากที่สุด (peak milk yield) วันที่ให้ปริมาณน้ำนมมากที่สุด (time of peak milk) และค่าปริมาณน้ำนม ณ วันต่างๆ ซึ่งได้จากการประมาณการจากวิธีคำนวณของ Wood (1967) และวิธีการรักษา ทำการเก็บข้อมูลในช่วงระยะเวลาการให้นม 305 วันรีดนม การหายของส่วนที่หนึ่งคือไม่มีประวัติการรักษาซ้ำในระยะเวลา 14 วันหลังการรักษาครั้งสุดท้าย การศึกษาส่วนที่ 2 ทำการเก็บตัวอย่างเต้านมที่เป็นเต้านมอักเสบแบบแสดงอาการก่อนและหลังการรักษาจำนวนทั้งสิ้น 124 ตัวอย่าง จากแม่โคที่เป็นเต้านมอักเสบ 112 ตัว ระหว่างธันวาคม 2558 ถึง กันยายน 2559 การหายของส่วนที่สองคือไม่พบเชื้อจุลินทรีย์หลังการรักษา นำข้อมูลแต่ละส่วนเข้าทำการวิเคราะห์โดย univariate logistic regression model มีเลขประจำตัวโค และลำดับที่ของการให้นมเป็นตัวแปรแบบสุ่ม (a random effect) ในสมการ จากนั้นนำเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการหายของเต้านมอักเสบแบบแสดงอาการจากการวิเคราะห์ครั้งแรกเข้า วิเคราะห์โดย multivariate logistic regression model มีเลขประจำตัวโค และลำดับที่ของการให้นมเป็นตัวแปรแบบสุ่ม (a random effect) ในสมการ พบว่าในส่วนของการศึกษาที่ 1 ชนิดของยาปฏิชีวนะแบบสอดเข้าเต้านมไม่มีผลกับการหาย มีเพียง 4 ปัจจัยที่มีผลกับการหายของเต้านมอักเสบแบบแสดงอาการ คือ ลำดับที่ของการให้นม จำนวนครั้งที่เคยเป็นเต้านมอักเสบ ปริมาณน้ำนมรายวัน 3 วันก่อนวันที่เป็นเต้านมอักเสบ และอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำนมก่อนให้ปริมาณน้ำนมสูงสุด ลำดับที่การให้นมที่ 1 มีการหายมากกว่าลำดับที่การให้นมที่ ≥4 การเป็นเต้านมอักเสบครั้งแรกมีการหายมากกว่าการเป็นหลายครั้ง กลุ่มโคที่ให้ปริมาณน้ำนมรายวัน 3 วันก่อนวันที่เป็นเต้านมอักเสบมากมีการหายน้อยกว่ากลุ่มที่ให้น้ำนมน้อยกว่า และอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำนมก่อนให้ปริมาณน้ำนมสูงสุด กลุ่มที่ให้อัตราการเพิ่มปริมาณน้อยมีการหายมากกว่ากลุ่มที่มีอัตราการเพิ่มปริมาณน้ำนมมาก ในส่วนของการศึกษาที่ 2 พบ 3 ปัจจัยที่มีผลกับการหายของเต้านมอักเสบแบบแสดงอาการ คือลักษณะน้ำนมที่ผิดปกติ สาเหตุของเชื้อที่เป็นเต้านมอักเสบ และรูปแบในการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา ซึ่งพบว่าลักษณะน้ำนมที่ผิดปกติแบบอื่นๆ มีการหายมากกว่าลักษณะน้ำนมที่เป็นตะกอน เชื้อ Streptococcus agalactiae ที่เป็นสาเหตุของเต้านมอักเสบที่มีการหายมากกว่าเชื้อจากสิ่งแวดล้อม และการใช้ปฏิชีวนะแบบสอดเข้าเต้านมร่วมกับการรักษากับแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อมีการหายมากากว่าการใช้ยาปฏิชีวนะแบบสอดเข้าเต้านมเพียงอย่างเดียว แนวโน้มกับความสำเร็จของการรักษาเต้านมอักเสบไม่ได้ขึ้นอยู่กับการใช้ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการักษาเท่านั้น แต่ยังมีความเกี่ยวเนื่องกับปัจจัยของตัวโค เช่น ลำดับที่การให้นม ปริมาณน้ำนม และจำนวนครั้งที่เป็นเต้านมอักเสบ เป็นต้น