Abstract:
การผสมข้ามสายพันธุ์ (hybridization) เป็นการผสมพันธุ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตที่มีความใกล้ชิดกันเชิงวิวัฒนาการที่มีโครงสร้างทางพันธุกรรมของประชากรหรือสปีชีส์ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ลูกผสม (hybrids) ที่เกิดขึ้นอาจทำให้เกิดการถ่ายเทเคลื่อนย้ายของยีน (gene flow) ระหว่างประชากรหรือสปีชีส์ได้หากลูกผสมดังกล่าวสามารถอยู่รอดและสืบพันธุ์ได้ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้โดยใช้เทคนิคทางด้านชีวโมเลกุล อึ่งน้ำเต้า (Microhyla fissipes) อึ่งข้างดำ (M.heymonsi) และอึ่งลายเลอะ (M.butleri) จัดเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่อยู่ในสกุลเดียวกัน มีขนาดลำตัวใกล้เคียงกันและมีการกระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าอึ่ง 2 หรือ 3 ชนิด มีการใช้พื้นที่อยู่อาศัยร่วมกัน และที่สำคัญด้วยธรรมชาติของอึ่งที่มีการปฏิสนธิภายนอกร่างกายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ได้ การศึกษาครั้งนี้จึงในใจตรวจหาและออกแบบเครื่องหมายดีเอ็นเอที่เหมาะสมและมีความจำเพาะต่อชนิดของอึ่ง เพื่อจำแนกและระบุชนิดของอึ่งทั้งสามชนิดเพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ในธรรมชาติ โดยนำตัวอย่างอึ่งน้ำเต้าจำนวน 17 ตัวที่เก็บมาจากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยและจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว อึ่งข้างดำจำนวน 20 ตัว ที่เก็บมาจากอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิและจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว และอึ่งลายเลอะจำนวน 10 ตัว ที่เก็บมาจากอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ มาตรวจหาและเปรียบเทียบลำดับนิวคลีโอไทด์ของยีน COI ในไมโทคอนเดรียลดีเอ็นเอที่สกัดมาจากเนื้อเยื่อตับของอึ่งทั้งสามชนิด โดยใช้เทคนิคพีซีอาร์ ผลการศึกษาพบว่าเฉพาะผลิตภัณฑ์พีซีอาร์ของอึ่งน้ำเต้าจำนวน 12 ตัวและของอึ่งข้างดำ จำนวน 9 ตัว เท่านั้นที่ให้ผล sequencing ชัดเจนและน่าเชื่อถือ โดยลำดับนิวคลีโอไทด์ที่ได้มีความยาว 678 คู่เบส จากการวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์ด้วยโปรแกรม Dnasp พบจำนวน haplotype ที่แตกต่างกันจำนวน 10 haplotype ที่มีความแปรผันทางพันธุกรรมจำนวน 138 ๖20.35%) ตำแหน่งมี parsimony informative sites จำนวน 129 ตำแหน่ง และมีค่า haplotype diversity (hd) และค่า nucleotide diversity (π) ค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ย hd = 0.810 ±0.080 และ π = 0.09202±0.00887 โดยมีค่า Genetic distance ระหว่างประชากรของอึ่งทั้งสองชนิดระหว่าง 0.000 ถึง 0.202 แสดงว่าประชากรของอึ่งน้ำเต้าและอึ่งข้างดำมีความแตกต่างทางพันธุกรรมของยีน COI ค่อนข้างสูง ซึ่งเหมาะที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องหมายดีเอ็นเอเพื่อใช้ในการจำแนกชนิดของอึ่งทั้งสองชนิด นอกจากนี้จากการศึกษาความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการยังพบว่าอึ่งน้ำเต้าและอึ่งข้างดำมีความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการเป็นแบบ monophyletic group การตรวจพบการเกิด gene flow ระหว่างประชากรของอึ่งทั้งสองชนิดแสดงว่าอึ่งน้ำเต้าและอึ่งข้างดำสามารถผสมข้ามสายพันธุ์กันได้ในธรรมชาติ