Abstract:
การศึกษาการเปลี่ยนแปลงมวลชีวภาพเหนือพื้นดิน การเปลี่ยนแปลงศักยภาพการสะสมธาตุคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือพื้นดิน และการเปลี่ยนแปลงปริมาณอินทรียวัตถุในดิน เป็นงานวิจัยระยะที่ 1 ของโครงการการใช้แบบจำลองเพื่อนคู่คิดเพื่อส่งเสริมศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนการจัดการทรัพยากรป่าไม้และพันธุ์พืชอย่างยั่งยืน ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี การศึกษาได้ดำเนินการในพื้นที่ป่าผลัดใบลุ่มน้ำย่อยน้ำว้า อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ที่มีระดับการรบกวนแตกต่างกัน 4 ระดับ อันเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ได้แก่ การรบกวนน้อยมาก การรบกวนน้อย การรบกวนปานกลางและการรบกวนรุนแรง ผลการศึกษาพบว่า ระบบนิเวศป่าไม้แห่งนี้ยังมีศักยภาพในการเติบโตสูงเมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา โดยพบว่าต้นไม้ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางระดับอกตั้งแต่ 4.5 ถึง 15.0 ซม. เพิ่มจำนวนมากขึ้นในทุกระดับการรบกวน ขณะที่มวลชีวภาพเหนือพื้นดินมีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับข้อมูลในปี พ.ศ. 2547 โดยมีการเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 10.05 ตันต่อเฮกแตร์ (ร้อยละ 161) ในพื้นที่ที่มีการรบกวนรุนแรง จนถึง 26.54 ตันต่อเฮกแตร์ (ร้อยละ 44.84) ในพื้นที่ที่มีการรบกวนน้อยมาก และเมื่อพิจารณาในด้านศักยภาพการสะสมธาตุคาร์บอนซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50 ของมวลชีวภาพเหนือพื้นดิน สามารถกล่าวได้ว่าพื้นที่ป่าแห่งนี้มีศักยภาพในการสะสมธาตุคาร์บอนได้ดีและพื้นที่ที่มีการรบกวนรุนแรงมีศักยภาพในการสะสมธาตุคาร์บอนได้ดีที่สุด เนื่องจากระยะเวลาผ่านไป 7 ปี พื้นที่แห่งนี้สะสมธาตุคาร์บอนได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 161 และจากการวิเคราะห์ปริมาณอินทรียวัตถุในดินพบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกระดับการรบกวนเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าระบบนิเวศมีแนวโน้มในการหมุนเวียนสารอาหารต่าง ๆ ที่ดีขึ้น สามารถให้ผลผลิตและบริการทางนิเวศต่อไป สำหรับงานวิจัยระยะต่อไปจะเป็นการศึกษารูปแบบการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ ศึกษากระบวนการตัดสินใจในการเข้าใช้ประโยชน์ ตลอดจนวิเคราะห์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการพื้นที่ป่า จากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้มาสร้างแบบจำลองพหุภาคี (agent-based model) ในรูปแบบเกมและสถานการณ์จำลอง (gaming and simulation) ตามแนวทางของแบบจำลองเพื่อนคู่คิด (companion modelling) และใช้ร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเพิ่มศักยภาพในการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืนต่อไป