Abstract:
สภาพแวดล้อมของการควบคุมภายในที่ดีจะช่วยส่งเสริมให้มีการตัดสินใจในเชิงกลยุทธ์ที่มีประสิทธิผลไปด้วย ซึ่งระบบควบคุมภายใน ระบบการกำกับดูแลที่ดี และระบบประเมินเทียบเคียง เป็นระบบที่สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร การเก็บข้อมูลสำหรับนักวิจัยฉบับนี้ประกอบด้วย การเก็บข้อมูลเชิงสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม ที่ประกอบด้วยการวิจัยนำร่องได้ส่งไปยังกลุ่มผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้ตรวจสอบภายใน (CIA) และสมาชิกสมาคมผู้ตรวจสอบภายใน (IIAT) หลังจากนั้นก็มีการปรับคำถามเล็กน้อยและส่งแบบสอบถามไปยังผู้ตรวจสอบภายในของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยใช้กรอบแนวคิดเดียวกัน นอกจากนั้นยังมีเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ตรวจสอบภายในของธุรกิจโรงพยาบาลและโรงแรมที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผลการวิจัยนำร่องพบว่ากลุ่มตัวอย่างทั้งสองให้ผลการวิเคราะห์ที่ใกล้เคียงกัน โดยส่วนใหญ่มีหน่วยงานตรวจสอบภายในโดยเฉพาะ มีระบบการกำกับดูแลที่ดี และระบบการคบคุมภายในอยู่ในระดับที่ชัดเจน อักทั้งมีความเป็นอิสระระหว่างคณะกรรมการตรวจสอบและผู้ตรวจสอบภายใน นอกจากนั้นยังพบว่า กลยุทธ์วัตกรรมและกลยุทธ์ผู้นำต้นทุนมีความสัมพันธ์กับสภาวะแวดล้อมของระบบการควบคุมภายในและความชัดเจนในระบบสร้างความเชื่อมั่นทั้งสาม กล่าวคือการที่องค์กรจะตัดสินใจใช้กลยุทธ์ใดนั้น จะคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและความชัดเจนของระบบสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินการและความสำเร็จของประประเมินเทียบเคียงพอสมควร เช่นเดียวกันกับการวิจัยนำร่อง ผลการสำรวจบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่าองค์กรส่วนใหญ่เห็นว่าตนเองมีความชัดเจนในระบบสร้างความเชื่อมั่นทั้งสามระบบ และสภาพแวดล้อมของระบบควบคุมภายในทั้งระดับองค์กรและระดับผุ้บริหารระดับต้นที่ดีมาก ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรพบว่า ความชัดเจนของระบบสร้างความเชื่อมั่นยิ่งมากเท่าใด ก็ยิ่งมีสภาวะแวดล้อมของระบบการควบคุมภายในที่ดี อีกทั้งมีระดับความสำเร็จของการประเมินเทียบเคียงในขั้นสูง และการดำเนินการด้านการประเมินเทียบเคียงมากเท่านั้น ในแง่ของกลยุทธ์ไม่พบความแตกต่างระหว่างองค์กรที่ใช้หรือไม่ใช้กลยุทธ์กับความชัดเจนของระบบสร้างความเชื่อมั่นเท่าใดนัก การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ตรวจสอบภายในโรงพยาบาลและโรงแรมในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า องค์กรส่วนใหญ่ทำตามแนวทางการกำกับดูแลที่ดีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ให้ไว้ โดยการใช้ระบบการตรวจสอบภายในตามหลักการของ COSO (The Committee of Sponsoring Organizations) และมีการใช้แนวคิดการบริหารความเสี่ยงทั่วทั่งองค์กร (Enterprise Risk Management หรือ ERM) โดยที่จะทำการตรวจสอบด้านการเงินและการดำเนินงานมากกว่าด้านกลยุทธ์ อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบภายในส่วนใหญ่เป็นลักษณะการตรวจสอบเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามกฎระเบียบในการทำธุรกิจขององค์กรอย่างถูกต้อง (Compliance) แต่ก็มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะตรวจสอบความเสี่ยงในด้านการเงิน และการดำเนินงานควบคู่กันไป สำหรับโรงพยาบาลซึ่งส่วนใหญ่มีการดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพ HA ผู้ตรวจสอบภายในจะพยายามมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพดังกล่าวเพื่อให้ได้ข้อมูลการตรวจสอบที่ลดความทับซ้อนลง และใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการตรวจติดตามได้ดีขึ้น และในส่วนของโรงแรมซึ่งถ้าใช้การทำสัญญาจ้างการบริหารงานของ chain นานาชาติ ก็จะมีการตรวจสอบภายในจากทั้งด้านของ chain ด้านของเจ้าของเอง ดังนั้นจึงมีความซับซ้อนพอควรแต่ก็ยังเน้นการตรวจสอบด้านการเงินและการดำเนินงานมากกว่าด้านกลยุทธ์เช่นกัน