Abstract:
ปลานิลเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีการเลี้ยงแบบหนาแน่น ลักษณะการเลี้ยงเป็นปลาเนื้อเพศผู้ (Monosex male tilapia) โดยการเหนี่ยวนำลูกปลาให้เจริญเป็นเพศผู้ด้วยการให้ฮอร์โมนเพศผู้แก่ลูกปลาวัยอ่อน เนื่องจากปลานิลเพศผู้มีการเจริญเติบโตดีกว่าเพศเมียและการเลี้ยงปลานิลแบบเพศผู้เพศเดียวเหมาะสมต่อการจัดการเมสทาโนโลนเป็นฮอร์โมนเพศผู้สังเคราะห์ชนิดหนึ่งที่มีการใช้ผสมอาหารให้ลูกปลากินในช่วงอนุบาลเพื่อวัตถุประสงค์ในการเหนี่ยวนำลูกปลกให้เจริญเป็นเพศผู้การวิจัยนี้ ทำการศึกษาประสิทธิภาพของเมสทาโนโลนในการเหนี่ยวนำเพศหลังจากการให้ลูกปลานิลกินฮอร์โมนขนาด 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมอาหาร ติดต่อเป็นระยะเวลา 15 วัน ประเมินผลการเหนี่ยวนำเพศปลานิล จากลักษณะของเนื้อเยื่อระบบสืบพันธุ์ระดับมหภาคและระดับมิญชวิทยาทำการตรวจวิเคราะห์ปริมาณฮอร์โมนตกค้างในลูกปลานิลที่ 1,2,3,5,7, 14 และ 21 วันหลังจากการหยุดให้กินฮอร์โมนผสมอาหารด้วยเทคนิค Liquid Chromatography Tandem Mass Spectrometry (LC-MS/MS) ผลการศึกษา พบว่าการให้ลูกปลานิลกินฮอร์โมนขนาด 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมอาหารติดต่อกัน 15 วัน สามารถเหนี่ยวนำเป็นลูกปลาเพศผู้ได้ 100% และเมื่อหยุดให้อาหารผสมฮอร์โมนเป็นเวลา 1 วัน 2 วัน 3 วัน พบปริมาณเมสทาโนโลนในตัวอย่างลูกปลา 0.856-3.198 นาโนกรัมต่อปลา 1 กรัม และเมื่อหยุดให้อาหารผสมฮอร์โมนเป็นเวลา 5 วัน ไม่พบปริมาณเมสทาโนโลนในตัวอย่าง หรือปริมาณต่ำกว่าระดับต่ำสุดที่วิธีวิเคราะห์สามารถตรวจสอบได้อย่างถูกต้อง (0.5 นาโนกรัมต่อเนื้อปลา 1 กรัม) การศึกษานี้แสดงว่าการให้ฮอร์โมนเมสทาโนโลนขนาด 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมอาหารเป็นระยะเวลา 15 วันแก่ลูกปลานิลวัยอ่อน สามารถเหนี่ยวนำให้ลูกปลานิลเจริญเป็นปลาเพศผู้และปลานิลขนาดบริโภคซึ่งเลี้ยงต่อจากระยะเวลาหยุดการให้ฮอร์โมนแล้ว 6-8 เดือน จึงไม่มีปริมาณฮอร์โมนตกค้างในระดับที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค