Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับความเป็นมาของการแสดง องค์ประกอบการแสดงและวิธีการแสดงโขนขุขันธ์ โดยศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์ การสังเกตภาพถ่ายและท่ารำจากบุคคลที่เคยแสดงโขนขุขันธ์ในอดีต ผลการศึกษาพบว่า โขนขุขันธ์ เป็นการแสดงที่เกิดขึ้นในอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ประมาณปีพ.ศ. 2511 ภายใต้การนำของนายอำเภอสม ทัดศรี เพื่อส่งเข้าร่วมแสดงในงานกาชาดและงานเฉลิมฉลองปีใหม่ประจำจังหวัดศรีสะเกษ โขนขุขันธ์เป็นการผสมผสานละครนอก ลิเกและละครร้องเข้าไว้ด้วยกัน คือ มีการดำเนินเรื่องที่รวดเร็วแบบละครนอก มีการเปลี่ยนฉากชักรอกตามเนื้อเรื่องคล้ายลิเกและมีการแสดงที่เน้นความสมจริงเช่นเดียวกับละครร้อง บทที่ใช้แสดงดัดแปลงจากพระราชนิพนธ์บทละคร เรื่องรามเกียรติ์ ในรัชกาลที่ 1 ดนตรีใช้วงปี่พาทย์อีสานใต้ การแต่งกายมีทั้งแบบยืนเครื่องและแบบประยุกต์ เวทีมีทั้งแบบยกพื้นและเวทีสนามซึ่งจะเลือกใช้ในตอนแสดงที่ต่างกัน มีการสร้างฉากตามเนื้อเรื่อง ผู้แสดงมีทั้งชายและหญิงจำนวน 80-200 คน บทพากย์และเจรจาจะใช้ฉันทลักษณ์กลอนแปด ไม่ใช้กาพย์อย่างโขน เพลงร้อยเป็นสำเนียงเขมร พม่า มอญในอัตราจังหวะชั้นเดียวและ 2 ชั้น ขั้นตอนการแสดง เริ่มด้วยปี่พาทย์โหมโรง 8 เพลงจากนั้นดำเนินเรื่องในที่นี้เป็นตอนหนุมานเผาลงกา จังตั้งแต่หนุมานทำลายสวน รบสหัสกุมาร รบอินทรชิตและเผาลงกาจึงจบการแสดง โขนขุขันธ์ ไม่ได้ทำการแสดงอีเลย หลังจากปีพ.ศ. 2515 จากปัญหาด้านบุคลากรและด้านงบประมาณ ทำให้ศิลปะการแสดงนี้สูญหายไป แต่ปัจจุบันยังมีผู้ที่เคยเกี่ยวข้องกับการแสดง โขนขุขันธ์หลงเหลืออยู่ จึงควรมีการรื้อฟื้นการแสดงโขนขุขันธ์ขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้และสืบทอดเป็นมรดกของอำเภอขุขันธ์สืบไป