Abstract:
ศึกษาว่า "ทุนเยาวราช" ทั้ง 4 กลุ่ม คือ ตระกูลโสภณพานิช ตระกูลเจียรวนนท์ ตระกูลโชควัฒนา ตระกูลดารกานนท์ มีการเติบโตอย่างไรในพัฒนาการเศรษฐกิจการเมืองไทย เพื่ออธิบายว่าทุนเยาวราชทั้ง 4 กลุ่ม สะสมทุนและเติบโตโดยการปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจการเมืองไทยในแต่ละสมัย และด้วยการเป็นนายทุนนายหน้า ผู้ศึกษาใช้แนวคิดเกี่ยวกับ ระยะก่อนการเกิดระบบทุนนิยมหรือการสะสมทุนขั้นต้น (Primitive Accumulation of Capital) เพื่อศึกษาการเปลี่ยนผ่าน (Transformation) หรือลักษณะการคลี่คลายของระบบเศรษฐกิจการเมืองไปสู่ระบบทุนนิยม โดยเน้นการศึกษาการกำเนิดการเติบโต และการปรับตัวของนายทุน การศึกษาพบว่า ทุนเยาวราชทั้ง 4 กลุ่ม ได้เกิดขึ้นหลังจากที่สามารถสะสมทุนด้วยการทำการค้าจนกลายเป็นนายทุนการค้า เมื่อเศรษฐกิจการเมืองไทยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มนายทหาร และกลายเป็นระบบทุนนิยมข้าราชการ นายทุนก็ไม่ขัดแย้งกับโครงสร้างส่วนบน แต่ได้พึ่งพิงระบบนี้ในการสะสมทุนและการเติบโต นโยบายที่กำหนดโดยรัฐและกลไกรัฐยังเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วได้ปรับตัวด้วยการขยายกิจการออกไป (extension) และขยายประเภทธุรกิจ (diversification) ทั้งที่เป็นการลงทุนเอง และเป็นนายทุนนายหน้าให้กับทุนต่างชาติ
การแข่งขันที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากผลของนโยบายรัฐ ยังผลักดันให้กลุ่มทุนเยาวราช ต้องปรับการบริหารโดยเชิญนักบริหารมืออาชีพ มาทำหน้าที่บริหารแทนระบบครอบครัว ในช่วงทศวรรษที่ 2530 ทุนเยาวราชทั้ง 4 กลุ่มได้พัฒนาการบริหารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและได้เร่งขยายกิจการออกไปในหลายสาขา จนกลายเป็นเครือธุรกิจขนาดยักษ์ ในขณะเดียวกันก็ยังรักษากิจการในสาขาดั้งเดิมที่เป็นรากฐานสำคัญในการสะสมทุนต่อไป ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจทุนเยาวราชปรับตัวด้วยการยอมสละธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักทิ้ง หรืออย่างน้อยก็ลดขนาดกิจการลง นอกจากนี้ ยังปรับตัวด้วยการปรับโครงสร้างการบริหาร ปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดความเสียหายจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจลงให้มากที่สุด