Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการแปรของภาษาทั้งด้านคำศัพท์และวรรณยุกต์พร้อมกัน ตามรุ่นอายุและความสะดวกของการคมนาคมโดยเลือกศึกษาภาษาไทยถิ่นโคราชเนื่องจากเป็นภาษาที่มีลักษณะพิเศษคือเป็นภาษาลูกผสมระหว่างภาษาไทยถิ่นอีสานกับภาษาไทยถิ่นกลาง เกณฑ์ในการคัดเลือกผู้บอกภาษาคือ ผู้บอกภาษาที่มีอายุตามเกณฑ์ที่กำหนด (15-20, 40-45, และ 60 ปีขึ้นไป) และอาศัยอยู่ในจุดเก็บข้อมูลที่กำหนดไว้ (จุดเก็บข้อมูลที่มีการคมนาคมสะดวก ได้แก่ ตำบลมะค่า และจุดที่มีการคมนาคมไม่สะดวก ได้แก่ ตำบลบัลลังก์ ทั้งสองตำบลอยู่ในอำเภอโนนไทย) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเรื่องคำศัพท์ได้แก่ หน่วยอรรถจำนวน 50 หน่วยอรรถ ซื่งแทนด้วยคำศัพท์ที่แตกต่างกันในภาษาไทยกรุงเทพ ภาษาไทยถิ่นโคราช และภาษาไทยถิ่นอีสาน ส่วนเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเรื่องวรรณยุกต์ ได้แก่ รายการคำชุดเทียบเสียงคล้ายเฉพาะในคำพยางค์เป็นจำนวน 12 คำ และคำพยางค์ตายสระเสียงยาว 4 คำ โดยเก็บข้อมูลคำละ 10 ครั้ง แต่นำมาวิเคราะห์เฉพาะครั้งที่ออกเสียงชัดเจนมากที่สุดเพียง 5 ครั้ง เพื่อวิเคราะห์ทางกลสัทศาสตร์ด้วยโปรแกรม PRAAT ผลการวิจัยพบว่าผู้บอกภาษาใช้คำศัพท์ภาษาไทยกรุงเทพมากที่สุด รองลงมาคือคำศัพท์ภาษาไทยถิ่นโคราช และใช้คำศัพท์ภาษาไทยถิ่นอีสานน้อยที่สุด ผลการวิเคราะห์ทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 0.01 แสดงว่าในภาพรวมรุ่นอายุมีผลต่อการแปรของคำศัพท์อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างรุ่นอายุพบว่ามีเพียงระหว่างรุ่นอายุ 15-20 ปี กับรุ่นอายุ 60 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่ใช้คำศัพท์แตกต่างกัน เมื่อควบคุมตัวแปรความสะดวกการคมนาคมพบว่า จุดเก็บข้อมูลที่มีการคมนาคมสะดวกรุ่นอายุมีความสำคัญในการใช้คำศัพท์ แต่ในจุดเก็บข้อมูลที่มีการคมนาคมไม่สะดวกรุ่นอายุไม่มีผลต่อการแปรของคำศัพท์
แสดงให้เห็นว่าอายุไม่ได้มีความสำคัญต่อการแปรของคำศัพท์อย่างสม่ำเสมอ เมื่อพิจารณาอิทธิพลของความสะดวกของการคมนาคมต่อการใช้คำศัพท์พบว่า ในภาพรวมการคมนาคมไม่มีผลต่อการแปรของคำศัพท์ แต่เมื่อควบคุมตัวแปรรุ่นอายุแล้ว ความสะดวกของการคมนาคมมีอิทธิพลต่อรุ่นอายุ 15-20 ปี เท่านั้นที่ใช้คำศัพท์แตกต่างกัน จึงสามารถสรุปได้ว่าการแปรของคำศัพท์ในภาษาไทยถิ่นโคราชพบเพียงในผู้บอกภาษาอายุน้อย ที่อาศัยอยู่ในจุดที่มีการคมนาคมสะดวกเท่านั้นขณะที่ผู้บอกภาษารุ่นอายุอื่นๆ ทั้งที่อาศัยอยู่ในจุดที่มีการคมนาคมสะดวกและไม่สะดวก ไม่พบความแตกต่างในการใช้คำศัพท์แต่อย่างใด ส่วนการแปรด้านวรรณยุกต์ พบว่า ผู้บอกภาษาทุกคนใช้ระบบวรรณยุกต์ของภาษาไทยถิ่นโคราชที่มี 4 หน่วยเสียง ได้แก่ หน่วยเสียงต่ำตกขึ้น กลางเลื่อนลง ต่ำตก และสูงตก มีข้อแตกต่างเรื่องการแยกเสียงรวมเสียงวรรณยุกต์ระหว่างตำบลมะค่าและตำบลบัลลังก์ กล่าวคือ ในตำบลมะค่ามีการแยกเสียงรวมเสียงแบบ A123-4 รูปแบบนี้ยังปรากฎในงานวิจัยที่ผ่านมา และตำบลบัลลังก์มีการแยกเสียงรวมเสียงแบบ A1-234ซึ่งปรากฏในงานวิจัยภาษาไทยถิ่นโคราชในอดีต งานวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าคำศัพท์มีอัตราเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าวรรณยุกต์ ขณะที่ผู้พูดภาษาไทยถิ่นโคราชในปัจจุบันรับคำศัพท์ภาษาไทยกรุงเทพเข้ามาใช้จำนวนสูงมาก แต่ทุกคนยังคงใช้ระบบวรรณยุกต์ภาษาไทยถิ่นโคราชตามเดิม