Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องการปฏิบัติการข่าวสาร, ข่าวลือและแบบแผนการเกิดฝูงชนวุ่นวาย: กรณีศึกษาเปรียบเทียบเหตุการณ์โจรนินจาและเหตุการณ์จับนาวิกโยธินเป็นตัวประกันในภาคใต้ของประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยกระบวนการเกิดและปฏิบัติการข่าวสารในลักษณะของข่าวลือ และปัจจัยที่ทำให้การปฏิบัติการข่าวสารในลักษณะของข่าวลือตามหมู่บ้านนำไปสู่จุดจบของความรุนแรง การวิจัยครั้งนี้ใช้กรอบแนวคิดทฤษฎีข่าวลือและพฤติกรรมฝูงชนวุ่นวาย และแนวความคิดด้านการปฏิบัติการข่าวสารในลักษณะของข่าวลือ ใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพในการเก็บข้อมูล โดยมีเทคนิควิธีที่สำคัญคือ การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์ผู้ให้ข่าวสำคัญ รวมถึงการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ผลการวิจัยพบว่า ข่าวลือที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านบือนังกือเปาะ ต.ตันหยงมัสและหมู่บ้านตันหยงลิมอ ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ไม่ได้เกิดจากกระบวนการธรรมชาติทั่วๆไป แต่เป็นข่าวลือ หรือข่าวสารประเภทหนึ่งตามหลักการปฏิบัติการข่าวสาร ข่าวสารที่ถูกปล่อยมาในรูปแบบของข่าวลือดังกล่าว สามารถเกิดขึ้นจากฝ่ายต่อต้านอำนาจรัฐหรือหน่วยงานราชการ และสำหรับพื้นที่มีความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
ปัจจัยภายนอก ได้แก่ นโยบายทางการเมืองของผู้มีอำนาจ การเคลื่อนไหวของขบวนการต่อต้านอำนาจรัฐในรูปแบบโครงสร้างเงาซ้อนทับอำนาจรัฐกับกลุ่มผลประโยชน์ท้องถิ่น ปัจจัยภายใน ได้แก่ การมีเครือข่ายปฏิบัติการข่าวสารในหมู่บ้าน กระบวนการส่งผ่านข้อมูลถูกบิดเบือน ความเชื่อถือศรัทธาผู้ปฏิบัติการข่าวสารในลักษณะของข่าวลือ ทัศนคติที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างรัฐและชาวบ้าน รวมทั้งความห่วงเหินระหว่างรัฐกับชาวบ้านก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหา ผลการวิจัยสรุปว่า การปฏิบัติการข่าวสารในลักษณะของข่าวลือและการแพร่ระบาดทางพฤติกรรมฝูงชนวุ่นวายมี 2 ประเภท คือ รูปแบบการก่อตัวอย่างช้าๆ ซึ่งจะมีผลต่อการแสดงออกของพฤติกรรมฝูงชนทำลายล้างรุนแรง และการใช้การปฏิบัติการข่าวสารเพื่อหวังผลในทางปฏิบัติฉับพลันทันที