Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาและวิเคราะห์สัจจะความสูงสุดในคัมภีร์อุปนิษัทคือเรื่องพรหมัน-อาตมันที่มีการกล่าวถึงและให้คำอธิบายไว้ในทุกอุปนิษัท แต่เนื่องจากคำอธิบายสภาวะพรหมัน-อาตมันในคัมภีร์อุปนิษัทสำคัญเหล่านี้มีความแตกต่างทางด้านความคิดและวิธีการอธิบายในบางประเด็น วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงมุ่งผสานแนวคิดดังกล่าวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการทำความเข้าใจสภาวะดังกล่าว นอกจากนี้เป้าหมายสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการสร้างความเข้าใจให้กับมโนทัศน์พระเจ้าหรือพรหมันในคัมภีร์อุปนิษัท โดยเน้นพิจารณาธรรมชาติอันเป็นสภาวะเดิมแท้ของพรหมันและอาตมันในคัมภีร์อุปนิษัทสำคัญทั้ง 13 อุปนิษัทจากฉบับการแปลที่เป็นภาษาอังกฤษซึ่งแปลจากต้นฉบับภาษาสันสกฤตของนักปรัชญา 2 ท่านคือ ราธากฤษณัน และแมกซ์ มูเลอร์ และจากต้นฉบับภาษาสันสกฤตของศังกราจารย์ แปลโดยสำนักพิมพ์ NAG โดยจะศึกษาทัศนะ ความคิดเห็นและการตีความของนักปรัชญาทั้ง 3 ท่าน ก่อนที่จะผสานแนวคิดในแต่ละประเด็นย่อย
การผสานแนวคิดในประเด็นธรรมชาติ (สภาวะ) ของพรหมันและอาตมันในบทที่ 2 และบทที่ 4 จะเป็นการวิเคราะห์รายละเอียดอย่างละเอียดของสภาวะนี้ เช่นในบทที่ 2 ธรรมชาติ (สภาวะ) ของพรหมัน จะเป็นการจัดหมวดหมู่อันเป็นคุณลักษณะของสภาวะพรหมัน ให้เป็นระบบและมีความชัดเจนต่อกระบวนการในการคิด เช่น การมีคุณสมบัติของพรหมัน การปราศจากคุณสมบัติพรหมัน ภาวะขั้วตรงข้ามของพรหมัน การปรากฏ-สำแดงออกของพรหมัน การอธิบายพรหมันผ่านวัตถุเชิงกายภาพและสิ่งแวดล้อม ภาวะอุตตรภาพของพรหมัน ภาวะอัพภันตรภาพของพรหมัน เป็นต้น ส่วนในบทที่ 4 ธรรมชาติ (สภาวะ) ของอาตมัน จะเป็นการกล่าวถึงสภาวะนี้ภายใต้สรรพชีวิต (อาตมันในสิ่งที่มีชีวิต) และสรรพสิ่งในโลก (อาตมันในสิ่งที่ไม่มีชีวิต) เพื่อความเข้าใจในองค์ประกอบร่วมของแก่นความจริงแท้นี้ สรุปข้อขัดแย้งบางประเด็นในตัวเนื้อหาของคัมภีร์อุปนิษัทสำคัญที่ทำให้ดูเหมือนขาดความสอดคล้องกัน สามารถนำวิธีการทางปรัชญามาวิเคราะห์เพื่อหาจุดร่วมทางความคิดซึ่งก่อให้เกิดความสอดคล้องกันได้ และจากการวิเคราะห์รายละเอียดปลีกย่อยของสภาวะแห่งพรหมันและอาตมันเพื่อเป้าหมายหลักคิอการผสานแนวความคิด ทำให้เกิดข้อค้นพบสำคัญ คือการสามารถเข้าใจมโนทัศน์พระเจ้าหรือพรหมันในคัมภีร์อุปนิษัทสำคัญผ่านมโนทัศน์ panentheism