Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีจุดมุ่งหมายที่จะนำเอาแนวคิดหลังสมัยใหม่มาวิพากษ์เศรษฐศาสตร์ โดยมุ่งประเด็นไปที่สมมติฐานความมีเหตุผลเพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาสมมติฐานดังกล่าว ซึ่งจากการสำรวจพบว่าเศษรฐศาสตร์ได้สร้างทฤษฎีที่ตั้งอยู่บันพื้นฐานการ ลดทอน โดยทำให้หน่วยเศรษฐกิจกลายเป็น ร่างนามธรรม ที่ถูกนิยมภายใต้ข้อสมมติทางคณิตศาสตร์ และมีพฤติกรรมที่อยู่บนพื้นฐานของสมมติฐานความมีเหตุผล โดยตีความยึดติดกับลักษณะความมีเหตุผลแบบกลไก (Instrumental ratinality) อย่างเข้มข้น ซึ่งการตีความในลักษณะดังกล่าวดูเหมือนคับแคบเกินไป ณ จุดนี้จึงมีการนำเอาแนวคิดหลังสมัยใหม่เข้ามาสู่เศรษฐศาสตร์ โดยตีความในฐานะที่มีลักษณะเป็น ตัวแกว่งห้วงความคิด หรือ postmodern momnts รวมไปถึงนำเสนอวิธีการรื้อสร้าง (deconstruction) และนัยยะบางประการที่มีต่อเศรษฐศาสตร์ อักทั้งยังได้พิจารณาอัตบุคคลแห่งหลังสมัยใหม่ (postmodern subject) ซึ่งทั้งหมดได้นำไปสู่การคิดทบทวนมุมมองทางปรัชญา (philosophical view) ในการนำเสนอกรอบโครงร่าง (framework) นิยามปัจเจกชนในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ใหม่ โดยพยายามไม่กำหนดร่างเบ็ดเสร็จใดๆ ให้แก่เศรษฐศาสตร์ ร่างของหน่วยเศรษฐกิจควรจะเป็นร่างที่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งแห่งตั้ง (situated agent) และถูกทำให้อิ่มตัว (saturated agent) ด้วยความหลากหลายของภาวะหลังสมัยใหม่ ร่างของหน่วยเศรษฐกิจดังกล่าวควรเป็นร่างที่ดับสลายได้รวดเร็ว และสามารถเกิดใหม่ได้ตลอดเวลา การศึกษาครั้งนี้ยังได้พิจารณาต่อเนื่องไปยังมุมมองภาคปฏิบัติ (practical view)
โดยนำ การบริโภคเชิงสัญญะ (Consumption of signs) เข้ามาสู่เศรษฐศาสตร์ ซึ่งได้เสนอไว้สองทิศทางด้วยกันโดย (1) เน้นมรรควิธีเชิงคุณภาพในการให้คำอธิบายรูปแบบการบริโภคภายใต้ทฤษฎีการบริโภคสัญญะ มากกว่าที่จะมุ่งเน้นมรรควิธีเชิงปริมาณ และ (2) ถ้าหากเราจะคงมรรควิธีเชิงปริมาณ หรือภาษาของเศรษฐศาสตร์เอาไว้ ก็ควรที่จะสอดแทรกคำอธิบายภายใต้กรอบของการบริโภคหลังสมัยใหม่เข้าไป เพื่อเป็นการเปิดกว้างคำอธิบายของเศรษฐศาสตร์ให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น สุดท้ายเศรษฐศาสตร์ควรมองปัจเจกชนในฐานะที่เป็นผลิตผลของวาทกรรม และเปลี่ยนแปลงข้อสมมติของวิชาเศรษฐศาสตร์ให้เชื่อมโยงกับพฤติกรรมรูปแบบอื่นมากขึ้น (เช่นเรื่องการให้ และการคำนึงถึงผู้อื่น) เพื่อนำไปสู่การพิจารณาเศรษฐกิจที่เป็นจริงให้กว้างกว่าที่จะมองว่า เป็นเรื่องการของแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกันในตลาด ภายใต้ความหลากหลายของภาวะหลังสมัยใหม่ เศรษฐศาสตร์ควรพยายามสร้างสรรค์เรื่องราวของหน่วยเศรษฐกิจ