Abstract:
วิเคราะห์องค์ประกอบทางความหมายของชื่อท่ามวยไทย 3 ประเภทคือ คำเรียกประเภทพื้นฐานของท่ามวยไทย ชื่อท่าเดี่ยวมวยไทย และชื่อท่ามวยไทยเชิงซ้อนหรือชื่อท่าที่ใช้ในกลวิธีการต่อสู้ในมวยไทย รวมทั้งสรุประบบความคิดและวิถีชีวิตของคนไทยที่สะท้อนจากชื่อท่ามวยไทย ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้มาจาก ตำรามวยไทย และการสัมภาษณ์ผู้บอกภาษาซึ่งเป็นนักมวยและครูมวย จากค่ายมวยนราตรีกุล กรุงเทพฯ และศูนย์สอนศิลปะแม่ไม้มวยไทย นนทบุรี ผลการวิเคราะห์พบว่า คำเรียกประเภทพื้นฐานของท่ามวยไทยมี 5 คำ ได้แก่ หมัด ศอก เข่า เตะ และถีบ ซึ่งแตกต่างกันด้วยมิติแห่งความแตกต่างทางความหมาย 2 มิติคือ อวัยวะที่ใช้เป็นอาวุธ และส่วนของอวัยวะที่ใช้เป็นอาวุธ ส่วนชื่อท่าเดี่ยวมวยไทยพบว่ามี 30 ชื่อ ได้แก่ หมัดตรง หมัดค้ำ หมัดเสย หมัดฮุค หมัดแย็บ หมัดเหวี่ยงหลัง ศอกตี ศอกตัด ศอกงัด ศอกกลับ ศอกสับ ศอกกระทุ้ง เข่าตรง เข่าตัด เข่าเฉียง เข่าโค้ง เข่าลอย เข่ายัด เข่าเด้ง เตะตรง เตะตัด เตะดีด เตะเฉียง เตะฟาด เตะเหวี่ยงหลัง ถีบตรง ถีบสูง ถีบข้าง ถีบหลัง และถีบจิก ชื่อเหล่านี้แตกต่างกันด้วยมิติแห่งความแตกต่าง 5 มิติ คือ อวัยวะที่ใช้เป็นอาวุธ ส่วนของอวัยวะที่ใช้เป็นอาวุธ วิถีของอวัยวะที่ใช้เป็นอาวุธ ลักษณะการใช้อวัยวะเป็นอาวุธ และวิธีการทำท่า สุดท้าย ชื่อท่ามวยไทยเชิงซ้อนหรือชื่อท่าที่ใช้ในกลวิธีการต่อสู้มี 87 ชื่อ เช่น
นารายณ์บั่นเศียร กวางเหลียวหลัง ญวนทอดแห ฝานลูกบวบ คลื่อนกระทบฝั่ง หนุมานแหวกฟอง พระรามน้าวศร ชื่อเหล่านี้แตกต่างกันด้วยมิติแห่งความแตกต่างทางความหมาย 6 มิติ คือ ท่าเดี่ยวที่ใช้ การรุก การรับ จุดปะทะ การพลิกแพลงและท่าเฉพาะเพิ่มเติม ผลการวิเคราะห์ความหมายของคำเรียกประเภทพื้นฐานของท่ามวยไทย ชื่อท่าเดี่ยวมวยไทย และชื่อท่ามวยไทยเชิงซ้อนสะท้อนระบบการต่อสู้ของคนไทยที่แบ่งเป็น 3 ระบบย่อยคือ ระบบการใช้อวัยวะพื้นฐาน ระบบการออกอาวุธ และระบบกลมวย นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของคนไทยในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านที่เกี่ยวกับอาวุธ เช่น ศอกตี สะท้อนการใช้อาวุธไม้หรือกระบอง เข่าตัดและเตะตัด สะท้อนการใช้ดาบและมีด สวนทวน ล้มขุนทวน และขุนศึกตีทวน สะท้อนการใช้ทวน ชื่อเหล่านี้ยังสะท้อนวิถีชีวิตของคนไทยที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ เช่น กวางเหลียวหลัง หนูไต่ราว อีกาฉีกรัง วิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต เช่น การทำงานในท่า ญวนทอดแห เถรกวาดลาน และการกินในท่า ฝานลูกบวบ สับหัวมัจฉา สะท้อนวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ เช่น ...