Abstract:
การศึกษาเรื่องความเป็นธรรมใน เวสสันดรชาดก เริ่มจากการวิเคราะห์การบำเพ็ญทานบารมีของพระเวสสันดรในฐานะเศรษฐธรรมแห่งการให้ ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการถกเถียงเรื่องความเป็นธรรมทางศีลธรรม (moral justice) ในเวสสันดรชาดก ขึ้นอยู่กับการใช้กรอบการวิเคราะห์ที่ทอดยาวออกไปมากน้อยเพียงใด หากกำหนดกรอบการวิเคราะห์ไว้เฉพาะเหตุการณ์และเวลาที่เกิดขึ้นในตัวบท การให้ทานของพระเวสสันดรหรือการบริจาคบุตร-ภริยานั้น ถือว่าเป็นกิจกรรมที่บำเพ็ญเพื่อแลกเอาพระโพธิญาณในอนาคต ซึ่งหมายความว่าการบำเพ็ญทานบารมียังอยู่ในตรรกะแห่งการแลกเปลี่ยน (Logic of exchange) การวิเคราะห์ในกรอบนี้ทำให้พิจารณาได้ว่า ไม่มี “ความเป็นธรรมทางศีลธรรม” ในเวสสันดรชาดก ทั้งนี้เพราะการให้ทานเป็นการ “แลกเปลี่ยน” แบบหนึ่ง เพื่อเป้าหมายของพระเวสสันดรเอง ทั้งนี้เป็นการ “ใช้” ความทุกข์ของครอบครัวเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนสำหรับวัตถุประสงค์ในอนาคตของพระเวสสันดร อย่างไรก็ตาม หากกำหนดกรอบการวิเคราะห์ที่ทอดยาวออกไปถึงพระชาติต่อไปที่พระเวสสันดรประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและบรรลุโพธิญาณตามปณิธานได้สำเร็จ ความหมายของการบริจาคบุตร-ภริยา ถือว่าอยู่ในตรรกะแห่งการให้ทาน (Logic of giving) เพราะเป็นเงื่อนไขจำเป็นต่อการบรรลุโพธิญาณ อันจะทำให้การบริจาคของพระเวสสันดรมิได้อยู่ในตรรกะแห่งการแลกเปลี่ยน การวิเคราะห์ในกรอบนี้ อาจกล่าวได้ว่ามีความเป็นธรรมทางศีลธรรมในแง่ที่ว่า การบรรลุโพธิญาณของพระพุทธองค์เป็นการชี้นำทางให้มนุษย์ทั้งมวลได้ปฏิบัติตนเพื่อการพ้นทุกข์ ในแง่นี้ ความทุกข์ยากของครอบครัวพระเวสสันดรจะมีความหมายใหม่ในเงื่อนไขอีกชุดหนึ่ง