Abstract:
ศึกษาบทบาทปัจจัยสภาวะทางเศรษฐกิจมหภาค และปัจจัยคุณลักษณะเฉพาะของกิจการที่มีผลต่อ การกำหนดสัดส่วนโครงสร้างเงินทุนเป้าหมาย และศึกษาพฤติกรรมการตัดสินใจเลือกหลักทรัพย์ สำหรับการระดมทุนเพิ่ม กิจการตัวอย่างที่ศึกษาเป็นกิจการที่จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยกเว้นกิจการในภาคการเงิน ช่วงระยะเวลาศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2544 ซึ่งกิจการตัวอย่างที่ศึกษาถูกแบ่งออก ตามระดับข้อจำกัดทางการเงินที่กิจการต้องเผชิญ วิธีการวิจัยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลภาคตัดขวางเข้ามาช่วย ในกระบวนการวิจัยทั้งสองขั้น โดยในกระบวนการขั้นแรกอาศัยการวิเคราะห์ความถดถอย โดยวิธีกำลังสองน้อยที่สุด ส่วนในกระบวนการขั้นที่สองใช้การวิเคราะห์ความถดถอยโดยวิธีโลจิต (Logit regression) ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยสภาวะทางเศรษฐกิจมหภาค มีผลกระทบต่อการกำหนดสัดส่วนโครงสร้างเงินทุน โดยกลุ่มกิจการที่เผชิญกับข้อจำกัดทางด้านการเงิน มีการกำหนดระดับสัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ที่เหมาะสม แปรผันตามสภาวะทางเศรษฐกิจมหภาค ในขณะที่กลุ่มกิจการที่ไม่ได้เผชิญกับข้อจำกัดทางด้านการเงิน กำหนดระดับสัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ที่เหมาะสม แปรผกผันกับสภาวะทางเศรษฐกิจมหภาค สำหรับการพิจารณาตัดสินใจเลือกหลักทรัพย์ที่จะใช้ สำหรับการระดมทุนเพิ่มนั้น การศึกษานี้พบว่า นอกเหนือไปจากปัจจัยทางด้านสภาวะเศรษฐกิจมหภาค ที่มีผลต่อการพิจารณาตัดสินใจของทั้งสองกลุ่มแล้ว ในกรณีของกิจการที่เผชิญกับข้อจำกัดทางการเงินนั้น ปัจจัยความแตกต่างของระดับสัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ ที่เกิดขึ้นจริงกับระดับหนี้สินต่อสินทรัพย์ที่เหมาะสม และปัจจัยคุณลักษณะเฉพาะของกิจการ ก็มีอิทธิพลต่อทางเลือกในการระดมทุนเพิ่มของกิจการ ในกรณีของประเทศไทยนั้นพบว่า ในประเด็นการตัดสินใจเลือกหลักทรัพย์สำหรับการระดมทุนเพิ่มนั้น ผู้บริหารทางการเงินไม่ได้พยายาม ที่จะปรับสัดส่วนโครงสร้างเงินทุน ให้เข้าสู่ระดับสัดส่วนโครงสร้างเงินทุนเป้าหมาย โดยผลที่ได้นี้ไม่สอดคล้องกับงานศึกษาในตลาดทุนที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากการตัดสินใจเลือกหลักทรัพย์สำหรับการระดมทุนเพิ่ม ของกิจการอาจจะต้องเผชิญกับอุปสรรค ทางด้านต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการจัดหาเงินทุน และต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเงินทุน ซึ่งจะมีผลทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ของกิจการ ผันผวนออกจากระดับสัดส่วนหนี้สินเป้าหมายได้ตลอดเวลา