Abstract:
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาผลของการทำวัคซีนพีอาร์อาร์เอสชนิดเชื้อเป็นแบบปูพรมต่อสมรรถภาพทางการสืบพันธุ์ของฝูง การติดเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสในกระแสเลือด และระดับแอนติบอดีในกลุ่มสุกรแม่พันธุ์ของฟาร์มสุกรอุตสาหกรรมขนาด 1,200 แม่ในประเทศไทย วัคซีนพีอาร์อาร์เอสชนิดเชื้อเป็นถูกนำมาใช้ในฟาร์มแบบปูพรม 2 ครั้งภายหลังจากการระบาดของเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอส โดยทำวัคซีนห่างกัน 3 สัปดาห์และหลังจากนั้นทุกๆ 3 เดือน ข้อมูลสมรรถภาพทางการสืบพันธุ์ของฟาร์มในช่วง 3 ปีถูกนำมาวิเคราะห์ ตัวอย่างซีรั่มถูกเก็บทั้งก่อนและหลังการทำวัคซีนเพื่อนำมาทดสอบด้วยชุดทดสอบ ELISA และตรวจหาไวรัสด้วยวิธี reverse transcription polymerase chain reaction ผลการศึกษาพบว่าการทำวัคซีนมีความสัมพันธ์ทางสถิติกับการลดลงของอัตราการแท้ง (1.4 เทียบกับ 1.6 %) อัตราการเข้าคลอด (83.8 เทียบกับ 90.0 %) จำนวนลูกสุกรแรกคลอด (10.6 เทียบกับ 11.4 ตัวต่อครอก) จำนวนลูกสุกรแรกคลอดมีชีวิต (10.0 เทียบกับ 10.3 ตัวต่อครอก) จำนวนลูกสุกรตายแรกคลอด (4.6 เทียบกับ 7.0 %) จำนวนลูกสุกรมัมมี่ (0.7 เทียบกับ 1.6 %) และการเพิ่มขึ้นของอัตราการกลับสัด (11.3 เทียบกับ 5.9 %) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาก่อนการระบาดของโรคพีอาร์อาร์เอส แม่สุกรอุ้มท้องที่ทำวัคซีนในช่วงต้นของการตั้งท้องมีจำนวนลูกสุกรแรกคลอดมีชีวิตน้อยกว่าและมีจำนวนลูกสุกรมัมมี่มากกว่าแม่สุกรอุ้มท้องที่ทำวัคซีนในช่วงอื่น ในขณะที่แม่สุกรอุ้มท้องที่ทำวัคซีนในช่วงท้ายของการตั้งท้องมีอัตราการเข้าคลอดน้อยกว่า การทำวัคซีนพีอาร์อาร์เอสชนิดเชื้อเป็นแบบปูพรมในฝูงสุกรฝูงนี้มีผลต่อสมรรถภาพทางการสืบพันธุ์ของฝูงโดยมีทั้งผลที่เป็นกลาง เป็นบวก และเป็นลบ ดังนั้นการตัดสินใจทำวัคซีนพีอาร์อาร์เอสชนิดเชื้อเป็นแบบปูพรมควรพิจารณาระหว่างผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการปรับปรุงสมรรถภาพทางการสืบพันธุ์ ได้แก่ ช่วยลดอัตราการแท้ง จำนวนลูกสุกรตายแรกคลอด และจำนวนลูกสุกรมัมมี่ และผลกระทบจากการทำวัคซีนในแม่สุกรที่ตั้งท้อง