Abstract:
หัตถอุตสาหกรรมผ้าฝ้ายทอมือเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ เป็นแหล่งการผลิตที่เก่าแก่และมีปริมาณการผลิตมาก จึงได้ทำการศึกษาศักยภาพและการแข่งขันของหัตถอุตสาหกรรมผ้าฝ้ายทอมือในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทดสอบว่าการรวมกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจจะมีจ้อได้เปรียบมากกว่าผู้ประกอบการที่ไม่ได้เข้าร่วมเครือข่ายวิสาหกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างการผลิตและการตลาดโดยใช้แนวคิดเรื่องลูกโซ่แห่งคุณค่า (Value chain) นอกจากนี้ทำการวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้แนวคิดการได้เปรียบการแข่งขันของประเทศ (Competitive advantage of nation) และการวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมและสถานการณ์ภายนอก รวมทั้งประเมินผลการดำเนินงานด้านต่างๆ โดยใช้แนวคิด BSC (Balanced scorecard), ตัวชี้วัด KPI (Key performance indicators) และการวิเคราะห์ช่องว่าง (Gap analysis) การเก็บข้อมูลภาคสนามด้วยวิธีการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการเครือข่ายวิสาหกิจ 12 กลุ่มและผู้ประกอบการที่ไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจ 10 แห่ง ซึ่งเข้าร่วมโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) และมีระดับดาว 3-5 ดาว ผลการวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันพบว่า กลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจมีความได้เปรียบในการรวมกลุ่มซื้อวัตถุดิบราคาถูกลง การรับช่วงงานต่อเมื่อผลิตสินค้าไม่ทัน การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งประธานกลุ่มมีทัศนคติในการพัฒนากลุ่ม โดยเข้าร่วมอบรมแล้วนำความรู้ที่ได้มาเพิ่มทักษะแรงงาน ช่วยลดของเสียจากการผลิต รวมทั้งการปรับปรุงการออกแบบ และการย้อมสีให้ตรงตามความต้องการของตลาด นอกจากนี้ยังมีตราสินค้าและมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนช่วยสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพแก่ลูกค้า รวมทั้งร้านจำหน่ายสินค้าของกลุ่ม ช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด
ซึ่งผู้ประกอบการที่ไม่ได้เข้าร่วมเครือข่ายวิสาหกิจยังขาดสิ่งเหล่านี้ แม้ว่าหัตถอุตสาหกรรมผ้าฝ้ายทอมือ ในจังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจมีศักยภาพการดำเนินงานด้านต่างๆ ดีกว่าผู้ประกอบการที่ไม่ได้เข้าร่วมเครือข่ายวิสาหกิจ แต่ลักษณเครือข่ายวิสาหกิจยังขาดความเชื่อมโยงและความร่วมมือกันตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ, อุตสาหกรรมกลางน้ำและอุตสาหกรรมปลายน้ำ ควรจะส่งเสริมผู้ประกอบการให้รวมกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจหัตถอุตสาหกรรมผ้าฝ้ายทอมือ เพื่อทำให้เกิดความร่วมมือและเชื่อมโยงกัน ควรเพิ่มทักษะผู้ประกอบการและแรงงานเพื่อมีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีนอกจากนี้ควรจัดการองค์กรอย่างเป็นระบบ การวางแผนกระบวนการผลิตและการบริหารลอจิสติก เพื่อลดต้นทุนในการผลิต รวมไปถึงการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดมูลค่าเพิ่มในลูกโซ่แห่งคุณค่า การสร้างตราสินค้า เพื่อแสดงแหล่งผลิตและการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่แสดงคุณภาพของสินค้า รวมทั้งการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายให้หลากหลายเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น ที่สำคัญอย่างยิ่งคือการรักษางานหัตถกรรมนี้ไว้ เพื่อนำงานฝีมือมาเป็นจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ สร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นแก่สายตาผู้บริโภค