Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึง กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของนักศึกษาพยาบาลชาย คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยมิชชัน ก่อนที่จะเข้าศึกษา ระหว่างศึกษา และหลังสำเร็จการศึกษาเป็นพยาบาลชายแล้ว การวิจัยเรื่องนี้ใช้กลุ่มประชากรเป็นนักศึกษาพยาบาลชาย 16 คน ประกอบกับนักศึกษาพยาบาลหญิงชั้นปีที่ 4 จำนวน 3 คน และอาจารย์พยาบาลอีก 1 ท่าน โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยทางมานุษยวิทยาในการรวบรวมข้อมูล คือ เทคนิคการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมการสังเกตทั่วไป การสัมภาษณ์ประวัติชีวิต และใช้เทคนิคการสัมภาษณ์ ผลการวิจัยพบว่ากระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของนักศึกษาพยาบาลชายสามารถสรุปได้เป็น 3 ขั้นตอนต่อเนื่อง คือ ขั้นตอนที่ 1 การเริ่มต้นของกระบวนการก้าวเข้าสู่คณะพยาบาลศาสตร์ ซึ่งเกิดจากการได้เรียนรู้และได้รับชุดข้อมูลที่สร้างทัศนคติเชิงบวกต่อาชีพพยาบาล จากการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับครอบครัวเครือญาติที่มีสมาชิกอยู่ในแวดวงทางการพยาบาล หรือจากกลุ่มบุคคลแวดล้อมที่อยู่ในสายงานทางการพยาบาล ที่ชี้ให้เห็นข้อดีคือ การมีงานรองรับ มีรายได้สูง มีเกียรติและความมั่นคงทางอาชีพ ขั้นตอนที่ 2 คือกระบวนการเรียนรู้ ขัดเกลา และปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ เป็นการขัดเกลาของตัวแทนหรือกลุ่มปฏิสัมพันธ์ในคณะพยาบาลศาสตร์ ที่มีบทบาทสำคัญมากในฐานะเป็นกลไกให้นักศึกษาพยาบาลชายสามารถเปลี่ยนบทบาทเดิมมารับบทบาทใหม่ สร้างการเรียนรู้ พัฒนาทัศนคติ ค่านิยม และปรับวิถีชีวิตรวมถึงแบบแผนพฤติกรรมให้เข้ากับริบทแห่งการพยาบาล
ซึ่งผลแห่งการปฏิสัมพันธ์เหล่านี้มีส่วนต่อการสร้างบทบาทและเตรียมความพร้อมก่อนเป็นพยาบาลอาชีพต่อไป และขั้นตอนที่ 3 คือกระบวนการยอมรับและการครองบทบาทพยาบาลชาย ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่นักศึกษาพยาบาลชายสามารถมองตนเองว่าเป็นผู้มี "ตัวตนแห่งการเป็นพยาบาล" มองว่าอาชีพพยาบาลไม่ใช่เป็นเพียงตำแหน่งที่ต้องเล่นไปตามบทบาท แต่ความเป็นพยาบาลอาชีพซึมซับเข้าไปในระบบคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ ผ่านประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับในการเป็นพยาบาลชาย จากการได้ปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องในสายงานทางการพยาบาล