Abstract:
ปัญหาชื่อที่ไม่มีสิ่งรองรับเกิดจากทฤษฎีการบ่งถึงโดยตรง ที่คิดว่าความหมายของชื่อเฉพาะคือวัตถุที่ชื่อบ่งถึง ถ้อยคำที่ไม่ได้บ่งถึงวัตถุจึงเป็นถ้อยคำที่ไม่มีความหมาย แต่ในการใช้ภาษาทั่วไปดูเหมือนว่าเราสามารถเข้าใจความหมายของชื่อที่ไม่มีสิ่งรองรับ และถือว่าประโยคที่มีชื่อประเภทดังกล่าวเป็นประโยคที่มีค่าความจริง ข้อถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวปรากฏอยู่ในทัศนะเช่น ทัศนะแบบมิลล์ ทัศนะแบบไมนอง ทัศนะของกอทท์ลอบ เฟรเก้ และทัศนะของเบอร์ทรันต์ รัสเซลล์ ซึ่งมีสมมติฐานเกี่ยวกับค่าทางอรรถศาสตร์ร่วมกันว่า ค่าทางอรรถศาสตร์ของชื่อเฉพาะคือวัตถุที่ชื่อบ่งถึง แต่สมมติฐานนี้สร้างปัญหาบางประการคือ การไม่สามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างภาษา ความคิดและโลก อย่างไรก็ตามมีทัศนะของนักปรัชญาอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่
ทัศนะแบบเฟรเก้ใหม่ที่ปฏิเสธสมมติฐานเกี่ยวกับค่าทางอรรถศาสตร์ดังกล่าว และเสนอว่าค่าทางอรรถศาสตร์ของชื่อเฉพาะคือ เงื่อนไขความจริงของประโยคที่ประกอบด้วยชื่อนั้นได้แก่ ทัศนะของมาร์ค เซนเบอร์รี และทัศนะของกาเร็ท อีวานส์ จากการวิเคราะห์ทัศนะต่างๆ เกี่ยวกับชื่อที่ไม่มีสิ่งรองรับ ผู้เขียนเห็นว่าทัศนะของอีวานส์เสนอทางออกที่น่าเชื่อถือ โดยอีวานส์นำมโนทัศน์เรื่องอรรถสารของเฟรเก้ และความคิดเรื่องคำเอกพจน์ของรัสเซลล์มาปรับเข้าด้วยกัน เพื่ออธิบายค่าทางอรรถศาสตร์ของชื่อที่ไม่มีสิ่งรองรับ และเสนอว่าชื่อที่ไม่มีสิ่งรองรับคือชื่อเชิงบรรยายรูปแบบหนึ่ง ที่การมีความหมายของชื่อประเภทดังกล่าวขึ้นอยู่กับ ความสามารถในการให้เงื่อนไขความจริงแก่ประโยคที่ประกอบด้วยชื่อนั้น ทำให้ทัศนะของอีวานส์อธิบายได้ทั้งประเด็นทางอรรถศาสตร์ และประเด็นทางญาณวิทยาเกี่ยวกับความรู้ความหมาย นอกจากนี้ยังสามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างภาษา ความคิด และโลก ในกรณีของชื่อที่ไม่มีสิ่งรองรับได้อย่างครบถ้วน