Abstract:
ศึกษาบทบาทของกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ที่เข้าไปมีอิทธิพลทางความคิด เหนือการกำหนดนโยบายต่างประเทศ เรื่องการแทรกแซงด้วยกำลังทหารของสหรัฐอเมริกาหลังเหตุการณ์ 9/11 หลังจากการโจมตีของผู้ก่อการรายเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้มีท่าทีและดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างแข็งกร้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายต่างประเทศเรื่องการแทรกแซงด้วยกำลังทหาร ในช่วงแรกสหรัฐอเมริกาประกาศว่าจะทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 (กลุ่ม al-Qaeda) ตลอดจนประเทศที่ให้ความช่วยเหลือและที่พักพิงแก่ผู้ก่อการร้ายเหล่านั้น ภายหลังจากการแทรกแซงด้วยกำลังทหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาลทอเลบานในอัฟกานิสถาน รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ประกาศต่อไปอีกว่า การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายจะยังไม่สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ แต่จะขยายสงครามต่อต้านการก่อการร้ายไปในระดับโลก โดยสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับรัฐที่ชั่วร้าย ซึ่งพยายามจะพัฒนาหรือครอบครองอาวุธที่มีอานุภาพในการทำลายล้างสูง อันนำไปสู่การแทรกแซงด้วยกำลังทางทหารในอิรักเมื่อเดือน มีนาคม ค.ศ. 2003
ด้วยการอ้างสิทธิในการป้องกันตัวจากภัยคุกคามที่อาจจะมาถึง ทั้งนี้ด้วยศักยภาพทางทหารสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ทำให้สหรัฐอเมริกาตระหนักดีว่าตนเองสามารถ และยินดีที่จะใช้กำลังทางทหารแบบเอกภาคี โดยไม่จำเป็นต้องผูกติดอยู่กับประเทศพันธมิตรหรือองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งแนวทางการดำเนินนโยบายดังกล่าวนี้ ถือได้ว่ามีความแตกต่างจากนโยบายในช่วงกว่าสิบปีก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการกำหนดนโยบายที่รุนแรงดังกล่าว มิได้เป็นผลมาจากภัยจากการก่อการร้ายที่เป็นปัจจัยภายนอกประเทศเท่านั้น หากแต่เป็นปัจจัยภายในประเทศอย่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลักดัน และชี้นำแนวทางการดำเนินนโยบายให้เป็นไปตามแนวทาง ที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่เชื่อมั่นมาโดยตลอด ซึ่งวิธีการในการเข้ามามีอิทธิพลเหนือการกำหนดนโยบายของกลุ่มอนุรักษ์นิยมนั้นนั้น อาศัยการประสานการสร้างแรงกดดันจากเครือข่ายของกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ ทั้งภายในและภายนอกรัฐบาล