Abstract:
"DE" เป็นคำในภาษาจีนที่สามารถแสดงด้วยอักษรจีนได้หลายรูปและเป็นคำที่นักภาษาศาสตร์และนักวิชาการด้านภาษาจีนสนใจศึกษามานานแล้ว แต่การศึกษาเท่าที่เป็นอยู่มักจำกัดอยู่เพียงบางหน่วยสร้างที่ "DE" ปรากฏอยู่เท่านั้น การนำเสนอผลการศึกษาส่วนมากไม่ได้แสดงรูปอักษรจีน ทำให้บางครั้งเกิดความสับสนได้ว่าการศึกษานั้นๆ ศึกษา "DE" รูปเขียนใดเนื่องจาก "DE" มีหลายรูปเขียน สามารถปรากฏได้ในหลายหน่วยสร้างและ "DE" ต่างรูปเขียนอาจปรากฏในตำแหน่งเดียวกันในหน่วยสร้างเดียวกันได้ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาคำ "DE" ทุกรูปเขียนและในทุกตำแหน่ง โดยรวบรวมข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ภาษาจีนที่ตีพิมพ์และเผยแพร่ในประเทศไทยทั้งสิ้น 30 ฉบับและสุ่มเลือกข้อมูลที่เป็นข่าวซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยวันละ 1 เรื่องจากหนังสือพิมพ์ภาษาจีน 6 รายชื่อคือ 1) หนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า 2) หนังสือพิมพ์ซื่อเจี้ยยื่อเป้า 3) หนังสือพิมพ์ตงฮั้ว 4) หนังสือพิมพ์เกียฮั้วตงง้วน 5) หนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยน และ 6) หนังสือพิมพ์เอเซียนนิวส์ไทม์ ผู้วิจัยรวบรวมข้อมูลรูปเขียนทั้งหมดของ "DE" ก่อนแล้วจึงจำแนกคำ "DE" ตามตำแหน่งและหน่วยสร้างที่ปรากฏ และพิจารณาหน้าที่ของ "DE" แต่ละรูปเขียนในแต่ละหน่วยสร้างเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปซึ่งแสดงให้เห็นลักษณะเฉพาะของคำ "DE" ในภาษาจีนที่ใช้ในประเทศไทยเป็นสำคัญ ผลการวิจัยพบว่าคำ “DE” ที่ใช้ในหนังสือพิมพ์ภาษาจีนที่ตีพิมพ์และเผยแพร่ในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 3 รูปเขียน คือ 的, 地 และ 得 โดยที่ “DE” ทั้งสามรูปเมื่อปรากฏในหน่วยสร้างที่แตกต่างกันจะมีความหมายแตกต่างกันไป หากพิจารณาจากส่วนหลัก พบว่ารูปเขียน 的มีส่วนหลักอยู่ในตำแหน่งหลัง “DE” และส่วนหลักนั้นเป็นนามวลี นามวลีไร้รูป หรือเป็นกริยาวลีก็ได้ ส่วนหลักของรูปเขียน 地 มีตำแหน่งอยู่หลัง “DE” เช่นเดียวกันแต่ส่วนหลักนั้นเป็นกริยาวลีอย่างเดียวส่วนรูปเขียนสุดท้ายคือ 得มีส่วนหลักเป็นกริยาวลีเช่นเดียวกับรูปเขียน 地 แต่ต่างกันตรงที่มีตำแหน่งของส่วนหลักอยู่หน้า “DE” อย่างไรก็ตามแม้ว่า “DE” แต่ละรูปเขียนจะปรากฏในหน่วยสร้างที่แตกต่างกันและมีความหมายต่างกันไป แต่รูปเขียนทุกรูปต่างก็มีหน้าที่เดียวกันคือเป็นตัวบ่งชี้แสดงการขยาย