Abstract:
การศึกษาชิ้นนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของรูปแบบสารไซเลนและชนิดผลิตภัณฑ์เดือยสำเร็จรูปเรซินคอมพอสิตเสริมเส้นใยชนิดต่างๆต่อความแข็งยึดไมโครเทนไซล์ระหว่างเดือยสำเร็จรูปกับเรซิน คอมพอสิตแบบไฮบริดชนิดบ่มตัวด้วยแสง เตรียมเดือยสำเร็จรูป จำนวน 12 แท่งจาก 5 ผลิตภัณฑ์ คือ DT light, FRC post, Easy post, Exacto conical และ Innopost ปรับสภาพผิวด้วยการพ่นผลึกอะลูมิเนียมออกไซด์ขนาด 50 ไมครอน นาน 10 วินาที สุ่มแบ่งออกเป็นสองกลุ่มตามรูปแบบของสารไซเลน (Monobond s และ Porcelain liner M) เตรียมชิ้นตัวอย่างแบบนอนทริมมิ่งจากเดือยสำเร็จรูปที่ถูกล้อมด้วยวัสดุเรซินคอมพอสิตสำหรับทำแกน นำชิ้นตัวอย่างที่ได้ ไปวัดค่าความแข็งยึดไมโครเทนไซล์ด้วยเครื่องทดสอบสากลระบบไฮดรอลิก ทดสอบนัยสำคัญทางสถิติด้วยสถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสองทาง และทำการเปรียบเทียบเชิงซ้อนแบบทูกีย์ ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 พบว่ากลุ่มที่ใช้สารไซเลนระบบแยกสองขวดจะมีค่าความแข็งยึดไมโครเทนไซล์สูงกว่ากลุ่มที่ใช้ระบบขวดเดี่ยวที่ไฮโดรไลซ์แล้วอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ชนิดผลิตภัณฑ์เดือยฟันไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ยกเว้นผลิตภัณฑ์ Innopost (Innotech SLR, Italy) ปัจจัยรูปแบบของไซเลนและชนิดผลิตภัณฑ์เดือยฟันมีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่ารูปแบบของไซเลน ชนิดผลิตภัณฑ์เดือยสำเร็จรูปเสริมเส้นใย และการเลือกใช้ที่เหมาะสมระหว่างสารไซเลนและเดือยสำเร็จรูปมีอิทธิพลต่อค่าแรงยึดติดบริเวณผิวรอยต่อ