Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง "นาฎยประดิษฐ์การแสดงพื้นบ้านของวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด" มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมาและแนวคิดในการสร้างสรรค์การแสดงพื้นบ้านของวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด จากแหล่งข้อมูล 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้สร้างสรรค์ กลุ่มผู้เกี่ยวข้องในการสร้างสรรค์ และกลุ่มผู้แสดง การเก็บข้อมูลใช้วิธีการศึกษาเอกสาร การสังเกตและสัมภาษณ์ ขอบเขตการศึกษาคือพิจารณาผลงานสร้างสรรค์ทั้ง 32 ชุด โดยวิเคราะห์เฉพาะชุดเซิ้งเซียงข้อง วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ดก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2522 มีนโยบายการจัดการศึกษา อนุรักษ์สร้างสรรค์การแสดงพื้นบ้าน โดยนำพิธีกรรม ประเพณี วิถีชีวิต และการละเล่นของชาวอีสาน มาเป็นแนวคิดในการสร้างงาน ซึ่งมีทั้งหมด 32 ชุด และแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. การนำการแสดงพื้นเมืองเดิมมาปรับปรุง 12 ชุด 2. การสร้างสรรค์การแสดงขึ้นใหม่ 20 ชุด เซียงข้องเป็นพิธีเสี่ยงทายข้องใส่ปลาของชาวบ้านโคกก่อง ต.ปอภาร อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด การทำพิธีมี 6 ขั้นตอน คือ 1. เตรียมเครื่องบูชา 2. อัญเชิญวิญญาณเซียงข้อง 3. ปลุกเสก 4. ถาม 5. เสี่ยงทาย 6. ขับไล่ ปี พ.ศ. 2523 วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด ได้นำเซียงข้องมาสร้างสรรค์เป็นนาฏยศิลป์พื้นบ้าน โดยปรับให้เหลือเพียง 3 ขั้นตอน และนำท่าทางจากการทำพิธีมาผสมผสานกับท่าฟ้อนหมอลำเป็นท่าเซิ้งเซียงข้อง ได้ทั้งหมด 12 ท่า และเปลี่ยนผู้จับข้องจากผู้ชายเป็นหญิงให้อ่อนช้อยงดงามและนำวงโปงลางมาบรรเลงประกอบด้วยทำนองลำพื้นและลำแมงตับเต่า ผู้ทำพิธีนุ่งขาวห่มขาวเพื่อสร้างบรรยากาศของการทำพิธี ผู้จับข้องห่มผ้ารัดอกนุ่งโจงกระเบนและใช้ผ้าขาวม้าสอดใต้หว่างขาทิ้งชายหน้าและหลังเพื่อความกระฉับกระเฉงในการปฏิบัติท่าฟ้อน
ผลการวิจัยพบว่า ผู้สร้างสรรค์การแสดงชุดเซิ้งเซียงข้องได้รักษาโครงสร้างและรูปลักษณ์ของพิธีกรรมเอาไว้โดยปรับองค์ประกอบบางอย่างให้เหมาะสมกับการฟ้อนรำบนเวที ปัจจุบันพิธีกรรมเซียงข้องหาดูได้ยาก ดังนั้นการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างเช่นชุดเซิ้งเซียงข้องก็เป็นวิธีการสำคัญและเป็นตัวอย่างที่ดี ยังมีการฟ้อนรำที่นำมาจากพิธีกรรมในภาคอีสานอีกมาก ควรจะมีการทำวิจัยต่อไป