Abstract:
การวิจัยนี้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเงินปันผลกับผลกำไรในอนาคต โดยใช้อัตราการเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงินปันผล (Earning Changes) เป็นตัวพยากรณ์ความสามารถในการทำกำไรในอนาคตของบริษัท โดยมีสมมติฐานว่าบริษัทจะคาดการณ์ผลกำไรที่เกิดในอนาคตจึงตัดสินใจจ่ายเงินปันผล ในการศึกษาครั้งนี้ได้ปรับปรุงสมการถดถอยขึ้นใหม่ โดยวัดความสามารถในการทำกำไรในรูปเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าทางบัญชีหุ้นสามัญ นอกจากนี้ได้เสนอแนวทางใหม่โดยใช้กำไรที่คาดการณ์ (Future Earnings) และกำไรที่ผิดปกติจากที่คาดการณ์ (Abnormal earnings) เป็นตัวบ่งชี้ความสามารถของบริษัท รวมทั้งศึกษาปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถพยากรณ์ความสามารถในการทำกำไรในอนาคตของบริษัทได้ การศึกษาได้ใช้ข้อมูลบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ ระหว่างปี พ.ศ. 2537-2540 และช่วงหลักวิกฤตเศรษฐกิจ ระหว่างปี พ.ศ. 2541-2544 และจากผลจากการศึกษาด้วยวิธีอัตราการเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงินปันผลพยากรณ์ความสามารถของบริษัท พบว่าช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ ให้ผลขัดแย้งกับการศึกษาก่อนหน้านี้ (อมร ทรัพย์ทวีกุล, 2542) โดยการวิจัยนี้พบว่าการจ่ายเงินปันผลแบบเพิ่มขึ้นสามารถพยากรณ์ความสามารถในการทำกำไรในอนาคตของบริษัทได้ในทิศทางเดียวกัน ส่วนวิธีการวัดกำไรที่ผิดปกติจากที่คาดการณ์ และกำไรที่คาดการณ์ ให้ผลที่คล้ายกัน แต่ค่าสัมประสิทธิ์ที่ได้จากวิธีวัดกำไรที่ผิดปกติจากที่คาดการณ์จะมีนัยสำคัญมากกว่า โดยพบความสัมพันธ์ทางบวกระหว่างเงินปันผลกับกำไรของบริษัทในช่วง 1 ปีข้างหน้า แต่ในช่วงหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ การจ่ายเงินปันผลไม่สามารถพยากรณ์ผลกำไรในอนาคตของบริษัทได้ นอกจากนี้ยังพบปัจจัยอื่นคือ มูลค่าทางบัญชีของหุ้นสามัญ มูลค่าตลาดของหุ้นสามัญ และผลกำไรที่เกิดขึ้นในปีเดียวกับปีที่เปลี่ยนแปลงการจ่ายเงินปันผล ตัวแปรเหล่านี้เป็นตัวแปรที่สามารถสะท้อนความสามารถของบริษัทได้