Abstract:
ศึกษาสภาพสังคมของเมืองจันทบุรีและเมืองตราดตั้งแต่ พ.ศ. 2436-2476 ผลการศึกษาพบว่า ระหว่าง พ.ศ. 2436-2447 นั้น ฝรั่งเศสได้ทำการยึดครองและจัดตั้งที่ทำการทหารบริเวณตัวเมืองจันทบุรีและปากน้ำแหลมสิงห์ แต่การปกครองยังคงขึ้นอยู่กับรัฐบาลไทย อย่างไรก็ดีการที่ฝรั่งเศสเข้ามาตั้งกองทหารอยู่ที่จันทบุรี ทำให้ประสิทธิภาพการควบคุมคนและการจัดเก็บผลประโยชน์ของรัฐลดลง ทั้งนี้เพราะต้องปรับเปลี่ยนหรือ “คลายความเข้มงวด” เพื่อช่วยเหลือราษฎร แม้ว่าการยึดครองจันทบุรีของฝรั่งเศสจะเป็นเพียงบางส่วน แต่กระนั้นก็ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมภายในจันทบุรี เศรษฐกิจการค้าขยายตัวอย่างยิ่งโดยเฉพาะการค้ากับไซ่ง่อน ที่ดำเนินการโดยฝรั่งเศส นอกจากนี้ชาวจีนและชาวเวียดนามยังได้สมัครเข้าเป็นคนในบังคับฝรั่งเศส เพื่อจะได้เป็น “อภิสิทธิ์ชน” ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากฝรั่งเศสทางการศาล ใช้เป็น “ใบเบิกทาง” เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และเป็น “ช่องทาง” ในการหลบเลี่ยงภาษี ส่วนบริเวณที่ห่างไกลจากการยึดครองของฝรั่งเศสนั้นปรากฏว่า ราษฎรดำรงชีวิตอยู่ตามปกติ และไม่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วเช่นสังคมในเมือง ส่วนสภาพสังคมของเมืองตราด เมื่อฝรั่งเศสได้ถอนทหารออกจากจันทบุรีและเข้ามายึดครองตราดนั้น ได้สร้างความระส่ำระสายและความตื่นกลัวแก่ราษฎรเป็นอย่างมาก เนื่องจากการยึดครองตราดนั้นแตกต่างจากการยึดครองจันทบุรี ทั้งนี้ฝรั่งเศสปกครองตราด โดยผ่านเจ้าเมืองเขมรที่ฝรั่งเศสแต่งตั้ง มีเรสิดังส์ชาวฝรั่งเศส ทำหน้าที่ควบคุมอีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ฝรั่งเศสมีสิทธิในการเก็บภาษีของเมืองตราดทั้งขาเข้าและขาออก ส่งผลให้มีการอพยพของราษฎรชาวตราดเข้ามายังจันทบุรีเป็นจำนวนมาก ทำให้ไทยที่ต้องช่วยเหลือดูแลทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ภายหลังจากที่ฝรั่งเศสถอนกองทหารออกไปจากจันทบุรีและตราดแล้ว รัฐบาลได้ปรับปรุงการปกครองหัวเมืองเป็นระบบเทศาภิบาล จันทบุรีและตราดจึงได้รับการจัดตั้งเป็นมณฑลจันทบุรี และสิ้นสุดลงเมื่อมีการออกระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 เพื่อกระจายอำนาจแก่ส่วนท้องถิ่นและให้จังหวัดมีอำนาจในการปกครองตนเองมากขึ้น