Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ลักษณะและบทบาทของจระเข้ในนิทานไทย ผู้วิจัยรวบรวมนิทานไทยที่ปรากกฎบทบาทของตัวละครจระเข้ทั้งสำนวนลายลักษณ์และสำนวนมุขปาฐะได้ทั้งสิ้น 107 เรื่อง ซึ่งปรากฏตัวละครจระเข้ทั้งสิ้น 152 ตัว ผลการศึกษาพบว่าตัวละครจระเข้ปรากฏในนิทานไทย 9 ประเภท ได้แก่ ตำนานปรัมปรา นิทานศาสนา นิทานคติ นิทานมหัศจรรย์ นิทานชีวิต นิทานประจำถิ่น นิทานอธิบายเหตุ นิทานสัตว์ และมุขตลกและเรื่องโม้ ตัวละครจระเข้ที่ปรากฏในนิทานไทยแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ ตัวละครจระเข้ที่มีลักษณะตามธรรมชาติ และตัวละครจระเข้ที่มีลักษณะเหนือธรรมชาติ ตัวละครจระเข้ที่มีลักษณะตามธรรมชาติจะมีลักษณะทางกายภาพเหมือนจระเข้ในธรรมชาติ และมักมีลักษณะนิสัยที่ร้าย ส่วนตัวละครจระเข้ทีมีลักษณะเหนือธรรมชาติจะมีลักษณะทางกายภาพแตกต่างไปจากจระเข้ในธรรมชาติ 3 ประการ คือ รูปร่างหน้าตา กำเนิด และอำนาจวิเศษ ตัวละครจระเข้มีลักษณะเหนือธรรมชาติมักมีลักษณะนิสัยที่ดี ตัวละครจระเข้ในนิทานไทยแบ่งตามบทบาทในเรื่องได้ทั้งสิ้น 4 ประเภท คือ ตัวเอก ตัวปฏิปักษ์ ผู้ช่วย และตัวประกอบ ตัวละครจระเข้ทั้ง 4 ประเภทแสดงบทบาทในการเป็นผู้ทำลาย ผู้คุ้มครอง ผู้ช่วยเหลือตัวเอก ผู้เป็นพาหนะ ผู้สืบทอดประเพณี และผู้อบรมสั่งสอน ผู้วิจัยพบว่าตัวละครจระเข้ในนิทานไทยมักมีบทบาทเป็นผู้ทำลายและผู้คุ้มครองมากที่สุด ซึ่งเป็นบทบาทที่ตรงข้ามกันแต่มีสาเหตุมาจากความหวาดกลัวจระเข้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้นิทานไทยยังทำให้จระเข้กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างน้อย 2 ประการ คือ เป็นสัญลักษณ์ของสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่หวงสมบัติและตระหนี่ในทาน