Abstract:
ศึกษาและอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการสัญจรและการใช้ประโยชน์ที่ดินในด้านสภาพแวดล้อมกายภาพ ของเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาและเทศบาลเมืองอโยธยาในปัจจุบัน (ปี 2549-2551) และเสนอแนะแนวทางการพัฒนาพื้นที่ให้การสัญจรสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน วิธีการศึกษาประกอบด้วยการสำรวจสภาพพื้นที่ และการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการสัญจรกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นการวิเคราะห์ลักษณะสภาพแวดล้อมกายภาพ และกิจกรรมที่มีต่อกันในเชิงพื้นที่ของการสัญจรกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งแบ่งเป็นระดับชุมชน ย่าน และเมือง ผลการศึกษาพบว่า ระดับชุมชนมีความเร็วและความหนาแน่นของการสัญจรแต่ละเส้นทาง มีความแตกต่างกันตามประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน ระดับย่านมีลักษณะของโครงข่ายถนนและการใช้ประโยชน์ที่ดินในแต่ละย่านแตกต่างกัน ประกอบด้วย โครงข่ายถนนตาราง-ตารางผสมเส้นในเกาะเมือง เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากและปานกลาง ย่านอนุรักษ์โบราณสถาน และย่านสถานศึกษา โครงข่ายรัศมีผสมเส้นเป็นย่านพาณิยกรรมรองตามแนวถนนหลักนอกเกาะ ย่านสถาบันราชการและศูนย์การค้าใหม่ วงแหวนผสมเส้น เป็นย่านที่อยู่อาศัยนอกเกาะเมืองและอุตสาหกรรม ลักษณะโครงข่ายเป็นเชิงเส้น ได้แก่ ย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ย่านพาณิชยกรรมริมทาง ย่านอุตสาหกรรม และย่านสถานที่ราชการ การศึกษาสหสัมพันธ์พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการสัญจรกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีระดับความสัมพันธ์ทั้งในทิศทางเดียวกันระดับค่อนข้างสูงถึงต่ำ และทิศทางตรงข้ามกันระดับปานกลางถึงต่ำ และระดับเมืองพบว่าเป็นการเชื่อมต่อของโครงข่าย 2 ระบบคือ มีโครงสร้างของระบบการสัญจรของพื้นที่เป็นตารางในพื้นที่เกาะเมืองและถนนวงแหวนล้อมรอบเกาะ ที่มีลักษณะโครงสร้างการใช้ประโยชน์ที่ดินหลายศูนย์กลาง เชื่อมต่อกับระบบรัศมีในพื้นที่นอกเกาะเมือง ที่เป็นลักษณะโครงสร้างการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบรวมศูนย์ ความสัมพันธ์ของการสัญจรกับการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ ย่านอนุรักษ์โบราณสถาน สถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงศาสนสถานของพื้นที่ศึกษา มีปริมาณรถที่วิ่งผ่านเส้นทางนี้ในปริมาณมาก และความเร็วในการสัญจรน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานถนนตามลำดับศักย์ และเมื่อศึกษาสหสัมพันธ์พบว่ามีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับ การสัญจรทางน้ำ และระดับบริการของถนน แต่มีความสัมพันธ์ในทางตรงข้าม พื้นที่ถนน การสัญจรทางเท้า ท่ารถ ความเร็ว และการเชื่อมต่อของถนน ส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ พื้นที่พักอาศัย พื้นที่แหล่งเศรษฐกิจ ลักษณะเป็นย่านเศรษฐกิจ พบว่า การเชื่อมต่อของถนนและระดับบริการของถนน จะมีความสัมพันธ์ในทางเดียวกันกับพื้นที่ก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย การเชื่อมต่อของถนน ตำแหน่งท่ารถ การสัญจรทางเท้าและความเร็ว จะมีความสัมพันธ์ในทางเดียวกันกับพื้นที่ก่อสร้างอาคารที่เกี่ยวข้องกับแหล่งงาน แต่ระดับบริการของถนนมีทิศทางตรงข้าม ความเร็ว ตำแหน่งท่ารถ และการสัญจรทางเท้ามีความสัมพันธ์ในทางเดียวกันกับลักษณะเป็นย่านเศรษฐกิจ แต่ระดับบริการของถนนมีทิศทางตรงข้าม จากผลการศึกษา มีข้อเสนอแนะในการวางแผนการสัญจรกับการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มีความสัมพันธ์กัน ควรคำนึงถึงการเชื่อมต่อของถนน พื้นที่ถนนต่อพื้นที่ทั้งหมด การองรับปริมาณการจราจรที่มากที่สุดที่ผ่านพื้นที่ อัตราส่วนความหนาแน่นของอาคาร พื้นที่ก่อสร้างอาคารทั้งหมดในพื้นที่ พื้นที่ก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย เป็นต้น และการกำหนดลักษณะทางกายภาพถนน ควรมีการคำนึงถึงลำดับศัยของถนนประกอบกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน สำหรับพื้นที่ศึกษา สามารถจำแนกได้เป็น เส้นทางอนุรักษ์ เส้นทางพาณิชยกรรม เส้นทางพักอาศัย เส้นทางผสมประโยชน์ เส้นทางสถานศึกษาและสถานที่ราชการ และเส้นทางอุตสาหกรรม