Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ของผู้สูงอายุที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม โดยใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) ตามแนวคิดปรากฏการณ์วิทยาของ Husserl เก็บข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth interview) ผู้สูงอายุเพศหญิงจำนวน 9 คน ซึ่งได้รับเลือกเป็นผู้ให้ข้อมูลหลักอย่างเฉพาะเจาะจง ทำการสัมภาษณ์โดยการบันทึกเทปร่วมกับการสังเกตและการบันทึกภาคสนาม โดยทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) ผลการศึกษาวิจัย พบว่า ประสบการณ์ของผู้สูงอายุที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) มองย้อนการดำเนินชีวิตที่ส่งผลต่อการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม ได้แก่ การที่ผู้สูงอายุคิดถึงเหตุของการเจ็บป่วยจากการประกอบอาชีพ และจากการดำรงชีวิตประจำวัน 2) แสวงหาวิธีรักษาและดูแลตนเอง ได้แก่ การที่ผู้สูงอายุในขณะที่เจ็บป่วย มีความทุกข์ทรมานจากอาการและได้รับผลกระทบในด้านต่างๆ จากการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ผู้สูงอายุจึงแสวงหาวิธีรักษาและดูแลตนเองด้วยการบรรเทาอาการด้วยตนเอง ใช้วิธีการรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน และได้รับข้อมูลการรักษาจากแหล่งต่างๆ 3) ตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัด เมื่อผู้สูงอายุไม่สามารถที่จะทนทุกข์ทรมานจากความปวดและผลกระทบในด้านต่างๆ ได้ ผู้สูงอายุจึงตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากอยากหาย ได้รับข้อมูลสนับสนุนให้ผ่าตัด และกลัวแต่ทำใจยอมรับการผ่าตัด 4) รับรู้การผ่าตัด ได้แก่การที่ผู้สูงอายุเมื่อเข้ารับการผ่าตัดจะรับรู้ถึงสภาพแวดล้อมในห้องผ่าตัดที่ไม่คุ้นเคย และ บอกถึงประสบการณ์ความไม่สุขสบายหลังการผ่าตัด 5) ดำเนินชีวิตกับข้อเข่าใหม่ ผู้สูงอายุรับรู้ถึงสภาพของตนเองและมีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป โดยผู้สูงอายุจะเฝ้าระวังสังเกตอาการ เอาใจใส่ดูแลตนเอง และ พอใจกับข้อเข่าเทียม การศึกษาครั้งนี้ทำให้เข้าใจเกี่ยวกับประสบการณ์ของผู้สูงอายุที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม สามารถนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติการพยาบาลแก่ผู้สูงอายุที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม และการวิจัยทางการพยาบาลต่อไป