Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านอันประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ภายใต้รัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ระหว่าง พ.ศ. 2544-2547 โดยนำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขงหรือ ACMECS (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy) มาเป็นกรณีศึกษา และใช้กรอบความคิดว่าด้วย regimes เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ จากการศึกษาพบว่า นโยบายต่างประเทศของไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านภายใต้รัฐบาล พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร มีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญจากนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสมัยก่อนหน้า ในแง่ของสาระที่มีเป้าหมายชัดเจนในการที่จะกำหนดจุดยืนของประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคและประเทศผู้ให้ โดยใช้การทูตเชิงเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินนโยบาย บนพื้นฐานของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และในวิธีการดำเนินนโยบายที่เป็นความริเริ่มโดยตรงจากรัฐบาล กล่าวโดยสรุป ACMECS เป็นความริเริ่มที่สร้างสรรค์และเป็นมิติใหม่ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สุขของทุกประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้อง โดยจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องเล็งเห็นความสำคัญและให้ความร่วมมือต่อกันในการขับเคลื่อน ACMECS ให้เป็นกลไกที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป