Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายถึงปัจจัยคัดสรรที่มีความสัมพันธ์กับการมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการ ติดเชื้อ HIV ของวัยรุ่นชายและวัยรุ่นหญิง โดยศึกษาในส่วนของพฤติกรรมการใช้ถุงยางอนามัย กลุ่มตัวอย่างเป็นวัยรุ่นที่ศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ทั้งสายสามัญและสายอาชีพในเขต กรุงเทพมหานคร ขนาดกลุ่มตัวอย่าง 634 คน (วัยรุ่นชาย 327 คน วัยรุ่นหญิง 307 คน) คัดเลือกโรงเรียน โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive sampling) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการแจกแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยแยกวิเคราะห์ระหว่างวัยรุ่นชายและวัยรุ่นหญิง ใช้สถิติวิเคราะห์ความถี่ ร้อยละ และ การถดถอยเชิงเส้นแบบพหุคูณ (Multiple Regression)
ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ และ สามารถอธิบายพฤติกรรมการใช้ถุงยางอนามัยของวัยรุ่นชายมี 7 ปัจจัย ได้แก่ การพูดคุยกับคู่นอนใน การใช้ถุงยางอนามัย (beta = .332) การรับรู้ความสามารถของตนเองในการใช้ถุงยางอนามัย (beta = .248) การดื่มแอลกอฮอล์ก่อนหรือระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ (beta = .216) ความเชื่อในการใช้ถุงยางอนามัย (beta = .124) เจตคติต่อการใช้ถุงยางอนามัย (beta = .113) การควบคุมดูแลของพ่อแม่ตามการรับรู้ของ วัยรุ่น (beta = .110) และการรับรู้บรรทัดฐานกลุ่มเพื่อน (beta = .097) โดยปัจจัยทั้ง 7 ปัจจัยนี้มีความสัมพันธ์ กับพฤติกรรมการใช้ถุงยางอนามัยของวัยรุ่นชายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F = 11.858, p < .001) และ สามารถอธิบายพฤติกรรมการใช้ถุงยางอนามัยของวัยรุ่นชายได้ร้อยละ 39.1 สำหรับวัยรุ่นหญิง ปัจจัยที่มี ความสัมพันธ์และสามารถอธิบายพฤติกรรมการใช้ถุงยางอนามัยของวัยรุ่นหญิงมี 6 ปัจจัย ได้แก่ การพูดคุย กับคู่นอนในการใช้ถุงยางอนามัย (beta = .316) การรับรู้ความสามารถของตนเองในการใช้ถุงยางอนามัย (beta = .275) ความเชื่อในการใช้ถุงยางอนามัย (beta = .125) เจตคติต่อการใช้ถุงยางอนามัย (beta = .112) การสื่อสารเรื่องเพศระหว่างพ่อแม่กับวัยรุ่นตามการรับรู้ของวัยรุ่น (beta = .009) และการควบคุมดูแล ของพ่อแม่ตามการรับรู้ของวัยรุ่น (beta = .089) โดยปัจจัยทั้ง 6 ปัจจัยนี้ มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรม การใช้ถุงยางอนามัยของวัยรุ่นหญิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F = 11.900, p < .001) และสามารถอธิบาย พฤติกรรมการใช้ถุงยางอนามัยของวัยรุ่นหญิงได้ร้อยละ 35.2