Abstract:
การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายในการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของออสเตรเลียต่อปัญหาติมอร์ตะวันออกช่วงปี ค.ศ. 1991-2002 ผู้ศึกษาใช้เอกสารราชการของรัฐบาลออสเตรเลีย และวิเคราะห์โดยอาศัยแนวความคิดเรื่องมหาอำนาจระดับกลางเป็นหลัก รวมกับแนวคิดเรื่องการขึ้นต่อกันด้านความมั่นคงและโค้งแห่งความไม่มั่นคง เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงในนโยบายต่างประเทศของออสเตรเลียต่อปัญหาติมอร์ตะวันออกจากช่วงรัฐบาลนายพอล คีตทิง ถึงช่วงรัฐบาลนายจอห์น โฮเวิร์ด ผลการศึกษาพบว่า นโยบายต่างประเทศของออสเตรเลียในสมัยรัฐบาลนายพอล คีตทิงเน้นการทูตพหุภาคี มีลักษณะการเกี่ยวพันอย่างครอบคลุมและใกล้ชิดกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยให้ความสำคัญกับอินโดนีเซียเป็นอันดับแรก นโยบายต่างประเทศในสมัยรัฐบาลนายจอห์นโฮเวิร์ดเน้นการทูตทวิภาคี มีลักษณะที่เรียกว่าสัจนิยม-ปฏิบัตินิยมและใกล้ชิดกับประเทศตะวันตกโดยให้ความสำคัญกับสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับแรก ส่วนนโยบายต่างประเทศของออสเตรเลียต่อปัญหาติมอร์ตะวันออกช่วงรัฐบาลนายพอล คีตทิง และรัฐบาลนายจอห์น โฮเวิร์ดช่วงแรก (ค.ศ.1996-1998) เริ่มจากการไม่แทรกแซงด้วยกำลังทหารโดยตรงในติมอร์ตะวันออกเป็นการแทรกแซงด้วยกำลังทหารโดยตรงภายใต้กรอบของสหประชาชาติในปี ค.ศ.1999 ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ออสเตรเลียเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศต่อติมอร์ตะวันออกได้แก่ บทบาทความเป็นมหาอำนาจระดับกลางในการสร้างความมั่นคงให้กับติมอร์ตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ในโค้งแห่งความไม่มั่นคงและมีปัญหาการเปลี่ยนผ่านไปสู่เอกราชในช่วงปี ค.ศ.1998-1999 และจากความเป็นมหาอำนาจระดับกลาง ออสเตรเลียจึงมีศักยภาพทางทหารและทางเศรษฐกิจที่พร้อมในการรักษาสันติภาพเมื่อนานาชาติเรียกร้องให้ยุติความขัดแย้งในติมอร์ตะวันออก นอกจากนี้มติมหาชนในออสเตรเลียช่วงปี ค.ศ.1999 ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ออสเตรเลียส่งกำลังทหารเข้าไปรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออกด้วย