Abstract:
การศึกษาในครั้งนี้ได้ทำการสำรวจความชุกทางซีรั่มของเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอส (PRRSV) ในสุกรสาวทดแทนจากฟาร์มสุกรในประเทศไทยที่ถูกคัดเลือกจำนวน 5 ฟาร์ม การศึกษาประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นการศึกษาย้อนหลังเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลด้านความชุกทางซีรั่มของเชื้อ PRRSV ในสุกรสาว แม่สุกร พ่อสุกร สุกรอนุบาล และสุกรขุนจำนวน 7,030 ตัวอย่าง ส่วนที่สองเป็นการศึกษาความชุกทางซีรั่มของเชื้อ PRRSV ณ ช่วงเวลาหนึ่งในสุกรสาว จำนวน 200 ตัว ส่วนสุดท้ายเป็นการศึกษาความชุกทางซีรั่มของเชื้อ PRRSV ในสุกรสาวที่ถูกคัดทิ้งจากปัญหาความล้มเหลวทางการสืบพันธุ์ จำนวน 166 ตัว จากฟาร์มทั้งหมดพบว่ามีความชุกทางซีรั่มของเชื้อ PRRSV เป็น 79.3% จากการศึกษา ณ ช่วงเวลาหนึ่งพบว่า 87.5% ของสุกรสาวทดแทนมีการติดเชื้อ PRRSV ในสุกรสาวที่ถูกคัดทิ้งเนื่องจากปัญหาความล้มเหลวทางการสืบพันธุ์มีความชุกทางซีรั่มของเชื้อ PRRSV เป็น 73.5% การศึกษานี้สรุปได้ว่าสุกรสาวทดแทนส่วนใหญ่จะมีการสัมผัสเชื้อ PRRSV ก่อนจะถูกผสมพันธุ์ นอกจากนี้งานวิจัยยังได้ศึกษาความชุกของการตรวจพบแอนติเจนของเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสในเนื้อเยื่อมดลูกของสุกรสาวที่ถูกคัดทิ้งเนื่องจากมีปัญหาทางระบบสืบพันธุ์ และศึกษาความสัมพันธ์กับอายุของสุกรเมื่อถูกคัดทิ้ง สาเหตุการคัดทิ้ง ฟาร์ม และการทำวัคซีนพีอาร์เอส โดยรวบรวมชิ้นเนื้อมดลูกจากสุกรสาวจำนวน 100 ตัว จากฟาร์มสุกรในประเทศไทย จำนวน 6 ฟาร์ม ทำการตรวจหาแอนติเจนของเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสในชิ้นเนื้อโดยวิธีอิมมูโนฮิสโตเคมีโดยใช้เทคนิค Polymer-based non-avidin-biotin ผลการศึกษาพบว่า แอนติเจนของเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสถูกตรวจพบในไซโตพลาสซึมของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาจที่อยู่ในชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่อยู่ใต้ชั้นผิวเยื่อบุของมดลูก โดยพบได้ 33% ของสุกรสาวที่ถูกคัดทิ้ง การตรวจพบแอนติเจนของเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสแตกต่างกันในแต่ละฟาร์ม โดยพบตั้งแต่ 14.3% ถึง 80.0% (P=0.018) การตรวจพบแอนติเจนของเชื้อไวรัสพีอาร์เอสในเนื้อเยื่อมดลูกที่อายุต่างๆ กันไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (ตรวจพบ 29.6% 39.4% และ 40.9% ในสุกรสาวที่ถูกคัดทิ้งที่อายุ 6-8 9-10 และ 11-16 เดือน ตามลำดับ P=0.698) เช่นเดียวกันกับสาเหตุการคัดทิ้ง (P=0.929) แอนติเจนของเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์-เอสถูกพบใน 24.5% ของสุกรสาวที่ได้รับวัคซีนเชื้อเป็นพีอาร์อาร์เอสสเตรนยุโรป และ 23.1% ของสุกรสาวที่ได้รับวัคซีนเชื้อเป็นพีอาร์อาร์เอสสเตรนอเมริกา (P=0.941) ปริมาณแอนติบอดี้ต่อเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสไม่มีผลต่อการตรวจพบเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสในเนื้อเยื่อมดลูก และการตรวจพบแอนติเจนของเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสไม่มีความแตกต่างกันในสุกรสาวที่ไม่เคยถูกผสมพันธุ์ (35.4%) และสุกรสาวที่ได้รับการผสมพันธุ์ก่อนถูกคัดทิ้ง (30.8%) (P=0.622) โดยสรุป เชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอสสามารถคงอยู่ในเนื้อเยื่อมดลูกของสุกรสาวที่ได้รับเชื้อเป็นเวลาหลายเดือนแม้ว่าสุกรสาวนั้นจะได้รับการวัคซีนหรือการคลุกโรคแล้วก็ตาม