Abstract:
งานบริการสาธารณสุขประกอบด้วยงาน 4 ส่วนคือ การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสุขภาพ การส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค ซึ่งการบริหารจัดงานงานบริการสาธารณสุขให้ได้ประสิทธิภาพนั้น หน่วยงานสาธารณสุขต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในกระทรวงสาธารณสุข ต้องมีการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลสุขภาพรายบุคคลที่ได้จากสถานบริการสาธารณสุขต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทางสุขภาพที่สอดคล้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานและเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการงานบริการสาธารณสุขโดยรวมต่อไป อย่างไรก็ดี จากความแตกต่างในหน้าที่ความรับผิดชอบหน่วยงานสาธารณสุขต่าง ๆ จึงทำให้สถานบริการสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลต้องจัดเตรียมข้อมูลให้ตรงกับความต้องการที่หลากหลาย ทั้งในเรื่อง ประเภท รูปแบบ และข้อกำหนดของข้อมูล ซึ่งก่อให้เกิดความสับสนและการทำงานซ้ำซ้อน ดังนั้นเพื่อเป็นการลดภาระในการจัดเตรียมและนำส่งข้อมูล โดยมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการบริหารจัดการงานบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพนั้น จึงเกิดแนวความคิดในการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อใช้ในการพัฒนาและออกแบบระบบสารสนเทศที่เหมาะสมกับความต้องการใช้ข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขต่าง ๆ ที่สนับสนุนการบริหารจัดการงานบริการสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การดำเนินงานวิจัยเริ่มจากการศึกษาภาพรวมการใช้งานข้อมูลและสารสนเทศในระบบสาธารณสุขที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ทั้งจากเอกสาร รายงานที่มีใช้ในหน่วยงานภาพรวมดัชนีชี้วัดสุขภาพ องค์ประกอบระบบข้อมูลสุขภาพและการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องในหลายหน่วยงาน เพื่อกำหนดข้อมูลที่จำเป็นและวิเคราะห์หาความเชื่อมโยงของข้อมูลอย่างเป็นระบบ จากนั้นจึงได้พัฒนารูปแบบและลักษณะของข้อมูลให้เหมาะสมและเป็นไปตามความต้องการใช้ข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ โดยผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัย คือ โครงสร้างระบบข้อมูลสุขภาพ กลุ่มรายงาน และกลุ่มข้อมูลพื้นฐานด้านสุขภาพสำหรับการบริหารจัดการงานสาธารณสุข รวมไปถึงระบบสารสนเทศซึ่งประกอบด้วยฐานข้อมูลและหน้าจอการทำงาน ผลจากงานวิจัยนี้ได้ถูกนำเสนอผ่านการสัมมนาเพื่อรวบรวมความคิดเห็นและรับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญทางสาธารณสุข ซึ่งที่ประชุมสัมมนาได้สรุปว่า ระบบที่ออกแบบสามารถสนับสนุนการดำเนินงานที่สามารถตอบสนองความต้องการตามวัตถุประสงค์ของแต่ละหน่วยงานอีกทั้งยังช่วยให้การจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างมีระบบ และลดความซ้ำซ้อนในการจัดเตรียมข้อมูล นอกจากนี้ยังสามารถสนองตอบความต้องการใช้งานข้อมูลในปัจจุบัน และข้อมูลในระบบสามารถสะท้อนผลลัพธ์ทางสุขภาพที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการระบบบริการสาธารณสุข