Abstract:
ปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกระบือปลักด้วยการผสมเทียมคือการจับสัดยาก การเหนี่ยวนำการตกไข่และผสมเทียมแบบกำหนดเวลา (Ovsynch-TAI) นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในโคและกระบือแม่น้ำ แต่ยังไม่มีการศึกษาดังกล่าวในกระบือปลัก วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของโปรแกรม Ovsynch-TAI โดยคัดเลือกกระบือปลักไทยเพศเมียจำนวน 95 ตัวในฟาร์มเกษตรกรรายย่อยเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งผ่านการตรวจว่ามีวงรอบการเป็นสัดและมีอวัยวะสืบพันธุ์ที่ปกติ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง กลุ่มควบคุมเป็นกระบือที่ได้รับการผสมเทียมจากการเป็นสัดตามธรรมชาติ (n=43 ตัว) และกลุ่มทดลองเป็นกระบือที่ใช้โปรแกรม Ovsynch-TAI โดยคัดเลือกกระบือที่มีฟอลลิเคิลขนาดมากกว่าหรือเท่ากับ 10 มิลลิเมตร ณ วันเริ่มต้นโปรแกรม (n=52 ตัว) ฉีด GnRH 10 ไมโครกรัม โดยกำหนดให้เป็นวันที่ 0 หลังจากนั้นฉีดฮอร์โมน PGF2α 500 ไมโครกรัม ในวันที่ 7 และฉีด GnRH อีกครั้งในขนาดเดิมหลังจากฉีด ฮอร์โมน PGF2α 48 ชั่วโมง กำหนดเวลาผสมเทียม ในชั่วโมงที่ 12±4 และ 24±4 หลังฉีด GnRH ครั้งที่ 2 จากผลการล้วงตรวจท้องผ่านทางทวารหนักหลังผสม 60 วัน พบว่าอัตราการผสมติดของกระบือกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง คือ 34.9% (15/43) และ 34.6% (18/52) ตามลำดับ โดยไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.98) ประสิทธิภาพของโปรแกรม Ovsynch-TAI ในการเหนี่ยวนำการเป็นสัด เท่ากับ 100% (52/52) และอัตราการผสมติดในกระบือนาง (17.6%; 3/17) มีค่าสูงกว่าอัตราการผสมติดในกระบือสาว (42.9%; 15/35) แต่ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.07) จากการตรวจระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในซีรัมและการล้วงตรวจผ่านทางทวารหนักพบว่าอัตราการตายของตัวอ่อนระหว่าง 22 ถึง 60 วันหลังผสมมีค่าเท่ากับ 7.9% (3/38) และอัตราการคลอดของกระบือกลุ่มทดลอง Ovsynch-TAI มีค่าเท่ากับ 100% (18/18) นอกจากนี้ระยะห่างระหว่างการคลอดถึงผสมติดมีความสัมพันธ์กับอัตราการผสมติด (p = 0.03) จากการศึกษานี้ สรุปได้ว่าโปรแกรม Ovsynch-TAI มีประสิทธิภาพสามารถใช้กับกระบือปลักไทย ซึ่งให้ผลของอัตราการผสมติดไม่แตกต่างจากการผสมเทียมจากการเป็นสัดตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องจับสัด และมีแนวโน้มของอัตราการผสมติดในกระบือนางสูงกว่ากระบือสาวในกลุ่มที่ใช้โปรแกรม Ovsynch-TAI