Abstract:
พัฒนาตัวแบบที่ใช้ในการพยากรณ์การเข้าข่ายถูกฟื้นฟูกิจการ ของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และทดสอบความสามารถในการพยากรณ์ของตัวแบบที่ได้พัฒนาขึ้น โดยตัวแบบที่พัฒนาขึ้นนั้นสามารถไปใช้เป็นระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า ของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การศึกษาใช้การวิเคราะห์จำแนกประเภท (Multivariate Discriminant Analysis) และการวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติค (Logistic Regression Analysis) ในการระบุข้อมูลทางการเงินที่มีความสัมพันธ์ กับประเภทของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแบ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกฟื้นฟูกิจการ และบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ถูกฟื้นฟูกิจการ โดยข้อมูลทางการเงินที่ใช้ในการศึกษาเพื่อพัฒนาตัวแบบ ประกอบด้วยอัตราส่วนทางการเงินและข้อมูลที่เกี่ยวข้องในงบการเงินในช่วงปี พ.ศ. 2537-2541 ผลการวิจัย พบว่า ข้อมูลทางการเงินที่มีความสัมพันธ์กับประเภทของ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ อัตราส่วนผลตอบแทนจากสินทรัพย์ อัตราส่วนกำไรสะสมต่อสินทรัพย์รวม อัตราส่วนการหมุนของสินทรัพย์รวม และอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวมกับสินทรัพย์รวมต่อยอดขาย โดยความถูกต้องในการจัดประเภทจากข้อมูลที่ใช้ในการพัฒนาตัวแบบ สำหรับตัวแบบจากการวิเคราะห์จำแนกประเภท สามารถจัดประเภทข้อมูลได้ถูกต้องโดยรวม 95.95% และตัวแบบจากการวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติค สามารถจัดประเภทข้อมูลได้ถูกต้องโดยรวม 97.69% สำหรับผลการทดสอบความสามารถในการพยากรณ์ของตัวแบบ โดยใช้ข้อมูลที่ใช้ทดสอบ (Holdout Sample) จากข้อมูลทางการเงินในช่วงปี พ.ศ. 2542-2545 พบว่า ตัวแบบจากการวิเคราะห์จำแนกประเภท สามารถพยากรณ์การเข้าข่ายถูกฟื้นฟูกิจการได้ถูกต้องโดยรวม ร้อยละ 73.68, 89.19, 89.19 และ 91.89 ตามลำดับ และตัวแบบจากการวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติค สามารถพยากรณ์การเข้าข่ายถูกฟื้นฟูกิจการได้ถูกต้องโดยรวม ร้อยละ 76.72, 89.19, 89.19 และ 94.59 ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตัวแบบทั้ง 2 ตัวแบบมีความแม่นยำในการพยากรณ์ การเข้าข่ายถูกฟื้นฟูกิจการได้ถูกต้องมากขึ้น ถ้าระยะเวลาที่พยากรณ์ใกล้เคียงกับปีที่ถูกฟื้นฟูกิจการ