Abstract:
ศึกษาความสามารถของกำไรทางบัญชีและมูลค่าตามบัญชี ในการใช้อธิบายราคาหลักทรัพย์ตามระยะเวลาที่เปลี่ยนแปลง ตามการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการบัญชีและตามกลุ่มอุตสาหกรรม และศึกษาปัจจัยเฉพาะของธุรกิจ (Firm-specific Factors) และปัจจัยทางบัญชี (Accounting Factors) ที่มีผลกระทบทำให้มูลค่าตามบัญชี สามารถอธิบายราคาหลักทรัพย์ได้มากกว่ากำไรทางบัญชี และกำไรทางบัญชีสามารถอธิบายราคาหลักทรัพย์ ได้มากกว่ามูลค่าตามบัญชี โดยศึกษาข้อมูลงบการเงินและราคาหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี พ.ศ. 2527-2542 ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ยกเว้น ธนาคารธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ และธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต วิธีการศึกษาใช้วิธีวิเคราะห์สหสัมพันธ์ (Correlation Analysis) และการวิเคราะห์ความถดถอยแบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional Regression Analysis) โดยประยุกต์ตัวแบบของ Feltham-Ohison (1995) ทั้งแบบรวม (Pooled) แบบแยกรายปี แบบแยกรายไตรมาศ และแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม ต่อจากนั้นใช้ปัจจัยเป็นเกณฑ์แยกกลุ่มตัวอย่าง เพื่อวิเคราะห์ความถดถอย ผลการวิเคราะห์ พิจารณาจากค่าสัมประสิทธิ์ของการตัดสินใจ (Adjusted R2) ค่าสัมประสิทธิ์ของการตัดสินใจส่วนเพิ่ม (Incremental R2) และระดับความมีนัยสำคัญของค่าสัมประสิทธิ์ (Beta) ของต้วแปรอิสระในตัวแบบต่างๆ การทดสอบทั้งหมดใช้ระดับนัยสำคัญ 0.05 และ 0.10 ผลการวิจัยพบว่า ความสามารถของกำไรทางบัญชีและมูลค่าตามบัญชีร่วมกัน ในการใช้อธิบายราคาหลักทรัพย์ลดลงตามระยะเวลฃา ไม่เพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการบัญชี และไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ความสามารถส่วนเพิ่มของข้อมูลทางบัญชีทั้งสอง ไม่เปลี่ยนแปลงในการทดสอบทั้ง 3 เรื่องที่กล่าวข้างต้น โดยกำไรทางบัญชีสามารถอธิบายราคาหลักทรัพย์ ได้มากกว่ามูลค่าตามบัญชี ผลการศึกษาปัจจัยพบว่า รายการที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ ขาดทุนจากการดำเนินงานหลัก ขนาดของกิจการ รายการตีราคาสินทรัพย์ใหม่ ผลต่างจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นปัจจัยที่มีผลการะทบทำให้มูลค่าตามบัญชี สามารถอธิบายราคาหลักทรัพย์ได้มากกว่ากำไรทางบัญชี กำไรที่มีอัตราการเติบโตและระดับกำไรที่มีเสถียรภาพ เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบทำให้กำไรทางบัญชี สามารถอธิบายราคาหลักทรัพย์ได้มากกว่ามูลค่าตามบัญชี ขณะที่การยึดหลักจับคู่ค่าใช้จ่ายกับรายได้ เป็นปัจจัยที่ทำให้มูลค่าตามบัญชีสามารถอธิบายราคาหลักทรัพย์ ได้มากกว่ากำไรทางบัญชี ตรงข้ามกับสมมุติฐาน ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ไม่สามารถบันทึกบัญชี ไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้มูลค่าตามบัญชีสามารถอธิบายราคาหลักทรัพย์ ได้มากกว่ากำไรทางบัญชี ผลการวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุ ปรากฏว่า ปัจจัยทั้งหมดสามารถอธิบายความสามารถส่วนเพิ่มของกำไรทางบัญชีได้มากกว่าความสามารถส่วนเพิ่มของมูลค่าตามบัญชี