Abstract:
โดยทั่วไปในการใช้เรซินซีเมนต์ยึดเดือยฟันในคลองรากที่ได้รับการอุดด้วยวัสดุอุดคลองรากที่มียูจินอล ซึ่งจะมีการตกค้างของยูจินอลอยู่ภายในคลองรากฟัน จะทำให้เกิดโพลิเมอร์ไรเซชันของเรซินไม่สมบูรณ์ เกิดแรงยึดที่น้อยลง เกิดการรั่วซึมภายในคลองรากมากขึ้น ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการล้างคลองรากฟันด้วยสารชนิดต่างๆที่สามารถลดยูจินอลที่ตกค้างภายในรากฟัน การศึกษานี้เพื่อเปรียบเทียบการรั่วซึมที่เกิดขึ้นทดสอบโดยการใช้สารซิลเวอร์ไนเทรต และเปรียบเทียบค่าความแข็งแรงพันธะเฉือนระหว่างเรซินซีเมนต์กับเนื้อฟัน หลังจากการล้างทำความสะอาดคลองรากด้วย น้ำเกลือ เอธิลแอลกอฮอล์ อะซีโตน กรดฟอสฟอริก และ อีดีทีเอ โดยการใช้ฟันรากเดียว จำนวน 164 ซี่ นำมาแบ่งกลุ่มการทดลองเป็น 3 ตอน ผลการทดลองพบว่า ตอนที่1 เปรียบเทียบการรั่วซึมที่บริเวณปลายรากฟันระหว่างอุดเต็มคลองราก กับกลุ่มที่ได้รับการใช้เครื่องมือลนไฟตัดวัสดุอุดคลองรากออก เหลือวัสดุอุดปลายราก 3 มิลลิเมตร ให้ค่าการรั่วซึมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ P >0.05 (T-test) ตอนที่ 2 เปรียบเทียบการรั่วซึมที่เกิดขึ้นภายในคลองรากฟันหลังจากการล้างคลองรากด้วยสารชนิดต่างๆ พบว่าค่าเฉลี่ยการรั่วซึมกลุ่มที่ใช้น้ำเกลือน้อยกว่าสารชนิดอื่นอย่างมีนัยสำคัญที่ P< 0.05 (LSD test) ขณะที่ค่าเฉลี่ยการรั่วซึมระหว่างแอลกอฮอล์ อะซีโตน กรดฟอสฟอริก และ อีดีทีเอ ไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่ม และตอนที่ 3 ทดสอบการรั่วซึมที่บริเวณปลายรากระหว่างเรซินซีเมนต์ (พานาเวีย เอฟ)กับเนื้อฟัน และการทดสอบค่าความแข็งแรงพันธะเฉือน หลังจากการล้างคลองรากด้วยสารชนิดต่างๆ พบว่าค่าเฉลี่ยการรั่วซึมที่บริเวณปลายรากจากการล้างด้วยสารชนิดต่างๆ ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนระยะทางการรั่วซึมระหว่างเรซินซีเมนต์กับเนื้อฟัน พบว่าค่าเฉลี่ยการรั่วซึมของแอลกอฮอล์ กับ อะซีโตน ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ และค่าเฉลี่ยระยะทางการรั่วซึมน้อยกว่ากลุ่มที่ล้างด้วย อะซีโตน น้ำเกลือ กรดฟอสฟอริก และอีดีทีเอ ที่มีค่าไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ และการวัดค่าความแข็งแรงพันธะเฉือน พบว่ากลุ่มที่ล้างด้วยอะซีโตน และ อีดีทีเอ ให้ค่าความแข็งแรงพันธะเฉือนมากกว่ากลุ่มที่ล้างด้วยน้ำเกลืออย่างมีนัยสำคัญ และกลุ่มที่ล้างด้วยน้ำเกลือให้ค่าความแข็งแรงพันธะเฉือนมากกว่ากลุ่มที่ล้างด้วยแอลกอฮอล์ และกรดฟอสฟอริก อย่างมีนัยสำคัญ