Abstract:
การวิจัยนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นการวิจัยเชิงสำรวจเพื่อศึกษาความสามารถในการฟื้นพลัง และกลวิธีการเผชิญปัญหาของวัยรุ่นตอนต้น กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 634 คน ที่ตอบแบบวัดเจตคติความสามารถในการฟื้นพลังและแบบวัดการเผชิญปัญหา วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนสองทาง วิเคราะห์เปรียบเทียบพหุคูณด้วยวิธีการ Tukey และหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ผลการวิจัยพบว่า 1) วัยรุ่นตอนต้น มีความสามารถในการฟื้นพลังโดยรวมค่อนข้างสูง โดยมีลักษณะความสามารถในการฟื้นพลังด้านการสร้างสัมพันธภาพในระดับสูง 2) วัยรุ่นตอนต้น เผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับปัญหามาก แบบแสวงหาการสนับสนุนทางสังคมค่อนข้างมาก และแบบหลีกหนีในระดับปานกลาง 3) นักเรียนหญิงมีความสามารถในการฟื้นพลังสูงกว่า และเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับปัญหามากกว่านักเรียนชาย 4) นักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงและปานกลาง มีความสามารถในการฟื้นพลังสูงกว่า และเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับปัญหาและแบบแสวงหาการสนับสนุนทางสังคม มากกว่านักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ 5) ความสามารถในการฟื้นพลังมีความสัมพันธ์ทางบวกกับ กลวิธีการเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับปัญหา และแบบแสวงหาการสนับสนุนทางสังคม การวิจัยส่วนที่ 2 เป็นการวิจัยเชิงทดลอง เพื่อศึกษาผลของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม ต่อความสามารถในการฟื้นพลังและกลวิธีการเผชิญปัญหาของวัยรุ่นตอนต้น กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 36 คน ที่คัดเลือกมาจากกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยส่วนที่ 1 แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 18 คน และกลุ่มควบคุม 18 คน โดยจัดนักเรียนที่สนใจเข้าร่วมกลุ่มอยู่ในกลุ่มทดลอง 2 กลุ่ม เข้าร่วมกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาตามแนวคิดพิจารณาความเป็นจริง 11 ครั้ง ในระยะเวลา 6 สัปดาห์ติดต่อกันรวมทั่งสิ้น 20 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่แบบวัดเจตคติ ความสามารถในการฟื้นพลังและแบบวัดการเผชิญปัญหา วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการทดสอบค่าที (t-test) ผลการวิจัยพบว่า 1) หลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีคะแนนความสามารถในการฟื้นพลัง และการเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับปัญหาสูงกว่า และมีคะแนนการเผชิญปัญหาแบบหลีกหนีต่ำกว่าก่อนเข้ากลุ่ม 2) หลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีคะแนนความสามารถในการฟื้นพลังสูงกว่า และมีคะแนนการเผชิญปัญหาแบบหลีกหนีต่ำกว่ากลุ่มควบคุม