Abstract:
การวิจัยครั้งนี้แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ส่วนๆ ที่ 1 เป็นการวิจัยเชิงพรรณนามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา รูปแบบความผูกพัน ระดับการเห็นคุณค่าในตนเอง และกลวิธีการเผชิญปัญหาของนักศึกษา กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยนักศึกษาจำนวน 409 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบวัดรูปแบบความผูกพัน แบบวัดการเผชิญปัญหา และแบบวัดการเห็นคุณค่าในตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐาน วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว ความแปรปรวนสองทาง และเปรียบเทียบพหุคูณด้วยวิธีการ Dunnett?s T3 ผลการวิจัยพบว่า 1. นักศึกษาโดยทั่วไปมีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคง มีการเห็นคุณค่าในตนเองระดับปานกลาง และใช้การเผชิญปัญหาที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้การเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับปัญหาในระดับสูง ใช้การเผชิญปัญหาแบบแสวงหาการสนับสนุนทางสังคมค่อนข้างสูง ใช้การเผชิญปัญหาแบบหลีกหนีค่อนข้างต่ำ 2. นักศึกษาหญิงเห็นคุณค่าในตนเองสูงกว่า และใช้การเผชิญปัญหาแบบแสวงหาการสนับสนุนทางสังคมมากกว่านักศึกษาชาย 3. นักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงและแบบกังวล ใช้การเผชิญปัญหาแบบแสวงหาการสนับสนุนทางสังคม มากกว่านักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบทะนงตน 4. นักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคง ใช้การเผชิญปัญหาแบบหลีกหนีต่ำกว่านักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบกังวล และแบบหวาดกลัว 5. นักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบทะนงตน ใช้การเผชิญปัญหาแบบหลีกหนีต่ำกว่า นักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบกังวล 6. นักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงมีการเห็นคุณค่าในตนเอง สูงกว่านักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบหวาดกลัวและแบบกังวล 7. นักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบหวาดกลัวมีการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ และต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับนักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคง แบบทะนงตนและแบบกังวล การวิจัยส่วนที่ 2 เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบมีกลุ่มควบคุมทดสอบก่อนและหลังการทดลอง (Randomized Pretest-Posttest Control Group Design) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มพัฒนาตน ตามแนวทรอตเซอร์ที่มีต่อรูปแบบความผูกพันของนักศึกษา กลุ่มตัวอย่างจำนวน 26 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 13 คน และเป็นกลุ่มควบคุมจำนวน 13 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบวัดรูปแบบความผูกพัน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ย ของคะแนนการมองตนเองและผู้อื่นด้านลบ ด้วยการทดสอบค่าที ผลการวิจัย พบว่า หลังการทดลองนักศึกษาที่เข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยา แบบกลุ่มพัฒนาตนตามแนวทรอตเซอร์ มีคะแนนการมองตนเองและผู้อื่นด้านลบต่ำกว่า ก่อนการเข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มพัฒนาตนตามแนวทรอตเซอร์ และต่ำกว่านักศึกษากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05