Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้านทานการล้มเหลวในการบูรณะด้วยเดือยและแกนในฟันที่ได้ รับการรักษาคลองรากฟันด้วยการใช้เดือยคอมโพสิตเสริมเส้นใย เมื่อใส่เดือยที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางและความยาวต่างกันในคลองรากที่เตรียมไว้ในขนาดเดียวกัน โดยนำฟันตัดซี่กลางบนที่ได้รับการรักษาคลองรากฟันจำนวน 40 ซี่ ตัดส่วนตัวฟันออกให้เหลือความยาวราก 13 มม. และแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ทุกกลุ่มทำการรักษารากฟันด้วยวิธีแลทเทอรอลคอนเดนเซชัน และทำการเตรียมช่องว่างสำหรับใส่เดือยฟันยาว 8 มม. ด้วยหัวเจาะสำหรับเดือยขนาดกลาง (เดือยเบอร์ 2) และทำการบูรณะด้วยเดือยคอมโพสิตเสริมเส้นใยควอตซ์ (D.T. light-post) โดยใช้เรซินซีเมนต์ (Panavia F 2.0) ในการยึด ร่วมกับการใช้เรซินคอมโพสิต (Tetric N ceram) ในการสร้างแกนฟัน โดยในกลุ่มที่ 1 เดือยฟันมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางและความยาวพอดีกับผนังคลองรากฟัน (เดือยเบอร์ 2) ในกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 ใช้เดือยฟันขนาดเล็ก (เดือยเบอร์ 1) ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าคลองรากฟัน โดยในกลุ่มที่ 3 ใช้เรซินคอมโพสิตในการเสริมผนังคลองรากฟันก่อนการยึดเดือยฟัน ส่วนในกลุ่มที่ 4 ใช้เดือยฟันขนาดใหญ่ (เดือยเบอร์ 3) โดยเมื่อใส่จะมีความยาวสั้นกว่าความยาวของคลองรากฟันแต่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางพอดีกับผนังคลองรากฟันส่วนต้น จากนั้นนำฟันที่เตรียมไว้ในแต่ละกลุ่มยึดลงบล็อกยึดฟันที่ทำจากท่อพีวีซีโดยใช้อะคริลิกเรซินที่บ่มตัวได้ที่อุณหภูมิห้อง และนำไปทดสอบความต้านทานการล้มเหลวในการบูรณะด้วยเดือยและแกนโดยวางชิ้นตัวอย่างทำมุม 90 องศา ระหว่างแนวแกนฟันกับหัวกดทดสอบของเครื่องทดสอบสากลด้วยความเร็วหัวกด 2 มม. ต่อนาที บันทึกแรงที่ทำให้เกิดความล้มเหลวในการบูรณะของชิ้นตัวอย่าง ซึ่งผลการทดสอบพบว่าค่าเฉลี่ยแรงที่ทำให้เกิดความล้มเหลวในการบูรณะของชิ้นตัวอย่างและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของแต่ละกลุ่มมีค่าดังนี้ คือ กลุ่มที่ 1 เท่ากับ 108.33 ± 11.59 นิวตัน กลุ่มที่ 2 เท่ากับ 79.08 ± 12.15 นิวตัน กลุ่มที่ 3 เท่ากับ 119.61 ± 13.03 นิวตัน และกลุ่มที่ 4 เท่ากับ 94.87 ± 14.48 นิวตัน ซึ่งเมื่อทำการเปรียบเทียบทางสถิติด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวและวิเคราะห์หาความแตกต่างระหว่างกลุ่มด้วยสถิติบอนเฟอร์โรนีพบว่า กลุ่มที่ 1 มีค่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p > 0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ 3 และกลุ่มที่ 4 ส่วนในกลุ่มที่ 2 พบว่ามีค่าต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 3 โดยไม่พบการแตกของรากฟันในทุกกลุ่ม จึงสรุปได้ว่าการใช้เดือยคอมโพสิตเสริมเส้นใยที่มีขนาดพอดีกับคลองรากฟัน จะให้แรงต้านความล้มเหลวในการบูรณะด้วยเดือยและแกนไม่แตกต่างกับการใช้เดือยฟันที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าหรือการใช้เดือยฟันที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าร่วมกับการใช้เรซินคอมโพสิตในการเสริมผนังคลองรากฟัน ส่วนการใช้เดือยฟันที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าคลองรากฟันเพียงอย่างเดียวจะทำให้แรงต้านความล้มเหลวในการบูรณะต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ