Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และเปรียบเทียบลักษณะทางกลสัทศาสตร์ คือ ค่าความถี่ฟอร์เมินท์ ค่าระยะเวลา และค่าความเข้ม ของสระเดี่ยวและสระประสม ในพยางค์ที่ลงเสียงหนักในคำพูดต่อเนื่องในภาษาไทยถิ่นปัตตานีและภาษาไทยถิ่นกรุงเทพ โดยเก็บข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลภาษาไทยถิ่นปัตตานีและภาษาไทยถิ่นกรุงเทพ ภาษาละ 5 คน วิธีการเก็บข้อมูลเก็บจากคำพูดต่อเนื่อง โดยใช้วิธีพูดคุย ถาม-ตอบระหว่างผู้ให้ข้อมูลภาษาและผู้วิจัย สำหรับคำตัวอย่างที่ใช้ในการวิเคราะห์ ประกอบด้วย สระเดี่ยวเสียงสั้น 9 หน่วยเสียง คือ /I, e, ԑ, ɨ, ә, a, u, o, ɔ/ สระเดี่ยวเสียงยาว 9 หน่วยเสียง /ii, ee, ԑԑ, ɨɨ, әә, aa, uu, oo, ɔɔ/ และสระประสม 3 หน่วยเสียง คือ /ia, ɨa, ua/ โดยคำตัวอย่างต้องปรากฏในโครงสร้างพยางค์แบบปิดและแบบเปิด รวมคำทดสอบที่ใช้ในการวิเคราะห์มีทั้งสิ้น 2,310 คำ (คำตัวอย่าง 231 คำ x ผู้ให้ข้อมูลภาษา 10 คน) ในการวิเคราะห์ลักษณะทางกลสัทศาสตร์ของเสียงสระ ใช้โปรแกรมพราท (Praat) เวอร์ชั่น 4.4.27 และทดสอบความแตกต่างทางสถิติของค่าทางกลสัทศาสตร์ระหว่าง 2 กลุ่มตัวอย่าง โดยใช้สถิติ t-test ในโปรแกรม SPSS 13.0 for Windows และกำหนดระดับนัยสำคัญที่ 0.05 ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า สระเดี่ยวและสระประสมในภาษาไทยถิ่นปัตตานีมีค่าความถี่ฟอร์เมินท์ที่ 1 ต่ำกว่าภาษาไทยถิ่นกรุงเทพ ในขณะที่ค่าความถี่ฟอร์เมินท์ที่ 2 กลับมีค่าสูงกว่าภาษาไทยถิ่นกรุงเทพ สำหรับบริเวณเสียงสระโดยรวมทั้งในภาษาไทยถิ่นปัตตานีและภาษาไทยถิ่นกรุงเทพ สระยาวมีแนวโน้มเป็นสระขอบมากกว่าสระสั้นซึ่งมีแนวโน้มเป็นสระค่อนมาทางกลาง บริเวณเสียงสระแต่ละเสียงในภาษาไทยถิ่นปัตตานีมีการกระจายมากกว่าเมื่อเทียบกับในภาษาไทยถิ่นกรุงเทพ สำหรับค่าระยะเวลา สระเดี่ยวในภาษาไทยถิ่นปัตตานีมีค่าระยะเวลาเฉลี่ยน้อยกว่าในภาษาไทยถิ่นกรุงเทพ นอกจากนี้ อัตราส่วนค่าระยะเวลาในภาษาไทยถิ่นปัตตานีของสระสั้นต่อสระยาวในพยางค์ปิด คือ 1:1.95 สระสั้นต่อสระยาวในพยางค์เปิด คือ 1:2.50 และสระยาวในพยางค์ปิดต่อสระยาวในพยางค์เปิด คือ 1:1.28 สำหรับภาษาไทยถิ่นกรุงเทพ สระสั้นต่อสระยาวในพยางค์ปิด คือ 1:1.89 สระสั้นต่อสระยาวในพยางค์เปิด คือ 1:2.34 และสระยาวในพยางค์ปิดต่อสระยาวในพยางค์เปิด คือ 1:1.24 ในส่วนของสระประสม อัตราส่วนค่าระยะเวลาของสระประสมในพยางค์ปิดต่อสระประสมในพยางค์เปิดในภาษาไทยถิ่นปัตตานี คือ 1:1.28 ในขณะที่ภาษาไทยถิ่นกรุงเทพ คือ 1:1.39 สำหรับค่าความเข้ม สระสั้นมีค่าความเข้มมากกว่าสระยาว และสระประสมในพยางค์เปิดมีค่าความเข้มมากกว่าสระประสมในพยางค์ปิด ทั้งในภาษาไทยถิ่นปัตตานีและภาษาไทยถิ่นกรุงเทพ และค่าความเข้มในภาษาไทยถิ่นปัตตานีและภาษาไทยถิ่นกรุงเทพแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญ