Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์คือ 1) ศึกษาความเป็นไปได้ในการแทนที่กันของคำกริยา “ไป” และ “มา” ในบริบทต่างๆ และ 2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นอัตวิสัยของคำกริยา“ไป”และ“มา”กับความเป็นไปได้ในการแทนที่กันและระดับของการแสดงความหมายเชิงพื้นที่ ผลการวิจัยพบว่าคำกริยา “ไป” และ “มา”มีหลายความหมาย กล่าวคือ เมื่อคำกริยา “ไป” และ “มา” ปรากฏเป็นกริยาเดี่ยวในประโยคความเดียวจะแสดงการเคลื่อนที่จริงเชิงกายภาพออกจากหรือเข้าสู่จุดอ้างอิงของผู้พูด เมื่อคำกริยา “ไป” และ “มา” นำหน้าคำกริยาอื่นในหน่วยสร้างกริยาเรียงจะแสดงการเคลื่อนที่จริงเชิงกายภาพออกจากหรือเข้าสู่จุดอ้างอิงของผู้พูดเพื่อกระทำบางสิ่งบางอย่าง และความห่างเชิงระยะทางระหว่างเหตุการณ์ เมื่อคำกริยา “ไป” ตามหลังคำกริยาอื่นจะแสดงความหมายทิศทางเชิงพื้นที่ การณ์ลักษณะแบบสมบูรณ์และแบบไม่สมบูรณ์ และการเกินพอดี ส่วนคำกริยา “มา” เมื่อปรากฏตามหลังคำกริยาอื่น จะแสดงความหมายทิศทางเชิงพื้นที่ และเหตุการณ์ก่อนหน้าประเภทแง่ของผล และความต่อเนื่องของเหตุการณ์ ความเป็นไปได้ในการแทนที่กันของคำกริยา “ไป” และ “มา” แบ่งออกได้ 4 บริบท ได้แก่ 1) บริบทที่คำกริยา “ไป” และ “มา” สามารถแทนที่ได้ ซึ่งอ้างถึงเหตุการณ์เดียวกัน แต่สลับทิศทางของการเคลื่อนที่ 2) บริบทที่คำกริยา “ไป” และ “มา” สามารถแทนที่กัน แต่อ้างถึงเหตุการณ์คนละเหตุการณ์ 3) บริบทที่คำกริยา “ไป” ใช้ได้เท่านั้น และ 4) บริบทที่คำกริยา “มา” ใช้ได้เท่านั้น ความหมายของคำกริยา “ไป” และ “มา”และความเป็นไปได้ในการแทนที่กันได้ของคำกริยา “ไป” และ “มา” ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องกระบวนการกลายเป็นอัตวิสัยของแลงเอคเคอร์ (Langacker, 1985; 1991; 1999; 2006) กล่าวคือ เมื่อคำกริยา “ไป” และ “มา” มีความหมายทางไวยากรณ์มากขึ้นจะมีระดับความเป็นอัตวิสัยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในบริบทที่คำกริยา “ไป” และ “มา” สามารถแทนที่กันได้และแทนที่กันไม่ได้ ความหมายของคำกริยาทั้งสองแสดงทั้งการเคลื่อนที่เชิงกายภาพบนเส้นทางเชิงพื้นที่ ซึ่งมีความเป็นอัตวิสัยน้อย และการเคลื่อนที่เชิงนามธรรมบนเส้นทางที่ไม่ใช่เชิงพื้นที่ ซึ่งมีความเป็นอัตวิสัยมาก