Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์หลัก ๒ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับสมมติสัจจะและปรมัตถสัจจะ ตามแนวคิดของสำนักอภิธรรม และสำนักมัธยมกะในพุทธศาสนามหายาน (๒) เพื่อวิเคราะห์ว่าเราควรจะเข้าใจสมมติสัจจะอย่างไร จึงจะสามารถใช้สมมติสัจจะเป็นเครื่องมือนำไปสู่การเข้าใจปรมัตถสัจจะได้ ทฤษฎีความจริงสองอย่างของสำนักอภิธรรม มีรากฐานมาจากแนวคิดที่ว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เราพบเห็นในประสบการณ์ประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบย่อย ๆ ในระดับมูลฐานที่เรียกว่า “ธรรม” สำนักอภิธรรมถือว่า “ธรรม” แต่ละอย่างมีสวภาวะที่คงที่ และเป็นสิ่งที่เป็นจริงโดยปรมัตถ์ ส่วนสิ่งซึ่งประกอบขึ้นด้วย “ธรรม” เป็นเพียงสิ่งปรุงแต่งทางมโนทัศน์ จึงเป็นจริงโดยสมมติเท่านั้น นาคารชุนผู้ก่อตั้งสำนักมัธยมกะในพุทธศาสนามหายาน คัดค้านแนวคิดเรื่องสวภาวะของสำนักอภิธรรม และได้ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นโดยอิงอาศัยสิ่งอื่นจะต้องเป็นศูนยตา แนวคิดนี้ของนาคารชุนได้ทำให้นักวิชาการในปัจจุบันบางท่าน เช่น เจย์ แอล การ์ฟิลด์ ตีความว่า สมมติสัจจะเป็นสัจจะอย่างเดียวที่มีอยู่ การตีความเช่นนี้ทำให้สมมติสัจจะมีความสัมพัทธ์แบบสุดขั้วกับความเห็นของชาวโลก ซึ่งทำให้บทบาทเชิงบรรทัดฐานของความจริงหมดไป และก่อให้เกิด “ปัญหาที่น่าเศร้า” ตามมา ซึ่งส่งผลให้สมมติสัจจะไม่สามารถเป็นเครื่องมือนำไปสู่การเข้าใจปรมัตถสัจจะได้ นักวิชาการทางพุทธศาสนาได้พยายามแก้ปัญหาที่น่าเศร้านี้แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้หมดสิ้น ผู้วิจัยเสนอว่าเราสามารถยืนยันความเป็นจริงของสมมติสัจจะได้ โดยเสนอบทวิเคราะห์พุทธพจน์ที่แสดงให้เห็นว่า พระพุทธองค์ทรงยืนยันบทบาทเชิงบรรทัดฐานของข้อความที่เป็นจริงซึ่งแยกต่างหากจากข้อความที่เป็นประโยชน์ และพระพุทธองค์ทรงใช้ภาษาที่ชาวโลกใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นจริงโดยสมมติ ในการเทศนาสั่งสอนให้เขาเหล่านั้นเกิดการรู้แจ้งปรมัตถสัจจะได้