Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์แนวคิดเกี่ยวกับความรัก ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง และการโหยหาอดีต ในวรรณกรรมของนักเขียนเอเชียร่วมสมัย ซึ่งใช้ฉากหลักเป็นมหานครโตเกียว เซี่ยงไฮ้ และกรุงเทพมหานคร และศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับมหานครในบริบทโลกาภิวัตน์ เศรษฐกิจทุนนิยม และบริโภคนิยม ผลการศึกษาพบว่าวรรณกรรมเผยให้เห็นนิยามความรักที่แตกต่างไปจากขนบความรักโรแมนติก กล่าวคือ ความรักของชายหญิงมีแนวโน้มจะเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ผูกมัดซึ่งทำให้ความรักมีแนวโน้มจะไม่นำไปสู่การแต่งงาน ความรักของชายหญิงจึงเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีความก้ำกึ่งระหว่างความสัมพันธ์ของสามีภรรยาและเพื่อนต่างเพศ ซึ่งทำให้ความรักไม่ครอบคลุมความสัมพันธ์ทางเพศ นิยามความรักดังกล่าวเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจทุนนิยมซึ่งผลิตซ้ำแนวคิดชายเป็นใหญ่ในสังคมเมือง ความสัมพันธ์ที่ปรากฏในวรรณกรรมญี่ปุ่นนอกจากจะแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงต้องเผชิญหน้ากับความกดดันจากความคาดหวังของสังคมที่มีต่อบทบาททางเพศแล้ว ยังมีแนวโน้มจะเป็นความสัมพันธ์ไม่ผูกมัดเพื่อหลีกเลี่ยงความคาดหวังของสังคมที่มีต่อผู้หญิง ในวรรณกรรมกลุ่มเซี่ยงไฮ้ การแต่งงานและการสร้างครอบครัวจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีความพร้อมทางด้านการเงินที่จะสร้างครอบครัวที่มั่นคงได้ สำหรับในกลุ่มวรรณกรรมของไทย สภาพสังคมที่มีลักษณะของการประนีประนอมความแตกต่างของวัฒนธรรมสมัยใหม่และวัฒนธรรมไทยเปิดโอกาสให้กับความสัมพันธ์ที่ไม่สอดคล้องกับจารีตประเพณีและการปรับเปลี่ยนบทบาททางเพศ นอกจากอิทธิพลของทุนนิยมแล้ว วัฒนธรรมบริโภคนิยมซึ่งทำให้อำนาจของสินค้าบดบังความสัมพันธ์ของผู้คนทำให้ความสัมพันธ์เปราะบาง โดยในวรรณกรรมไทยและเซี่ยงไฮ้ ความสัมพันธ์ชายหญิงให้ความสำคัญกับเปลือกนอกที่กระตุ้นให้เกิดความปรารถนา และในวรรณกรรมไทยยังเผยการผลิตซ้ำความรุนแรง อย่างไรก็ดี การพัฒนาของสังคมเมืองภายใต้กระแสวัตถุนิยมนำไปสู่การโหยหาอดีต โดยในวรรณกรรมญี่ปุ่นความสัมพันธ์แม่ลูกเป็นต้นแบบให้กับความสัมพันธ์ชายหญิง และความเป็นแม่ยังถูกนำมาเชื่อมโยงกับอำนาจของธรรมชาติในการเยียวยาจิตใจที่บอบช้ำจากทุนนิยมและบริโภคนิยม สำหรับวรรณกรรมของเซี่ยงไฮ้นำเสนอความสัมพันธ์ในครอบครัวชายเป็นใหญ่ของจีน ซึ่งความสัมพันธ์กับการโหยหาอดีตในยุคเหมา รวมทั้งการโหยหารากเหง้าทางวัฒนธรรมของจีน ในขณะที่วรรณกรรมไทยแสดงให้เห็นการประกอบสร้างและประคับประคองความสัมพันธ์ให้มั่นคงและยั่งยืน