Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาการนำเสนอภาพแทนความตายในเรื่องสั้นไทยร่วมสมัยระหว่าง พ.ศ. 2547 – 2556 โดยใช้กรอบแนวคิดสังคมเสี่ยงภัยและการขบคิดทบทวนการเป็นสมัยใหม่ เพื่อวิเคราะห์การนำเสนอภาพแทนความตายและความหมายของความตายที่ปรากฏในเรื่องสั้นซึ่งสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงและเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสังคมไทยร่วมสมัย ผลการวิจัยสรุปได้ว่าการนำเสนอภาพแทนความตายในเรื่องสั้นได้แสดงให้เห็นถึงภาพของสังคมไทยในช่วงปี พ.ศ. 2547 – 2556 ที่กำลังปรากฏลักษณะของสังคมสมัยใหม่ช่วงปลายและเกิดความเสี่ยงที่เป็นผลมาจาก ความเจริญก้าวหน้าและวิถีชีวิตสมัยใหม่ นักเขียนได้แสดงการขบคิดทบทวนต่อสภาวะดังกล่าวและนำเสนอผ่านภาพแทน การตายที่ปรากฏในเรื่องสั้นซึ่งจะสัมพันธ์กับ 3 ประเด็น คือ ทุนนิยมกับสังคมเมือง ความตายกับอหังการของมนุษย์เหนือธรรมชาติ และความตายกับการเมือง การนำเสนอภาพแทนความตายในเรื่องสั้นในมิติของทุนนิยมและสังคมเมืองได้แสดงให้เห็นว่าโลกาภิวัตน์มีบทบาทสำคัญต่อสังคมบริโภค และการกลายเป็นปัจเจกบุคคลเป็นกระบวนสำคัญในการขบคิดทบทวนการดำรงอยู่ในสังคมทุนนิยมและบริโภคนิยม ปัจเจกบุคคลโดยเฉพาะผู้ชายในฐานะผู้นำครอบครัวเริ่มตระหนักถึงการดำรงชีวิตตามอุดมการณ์ชีวิตแบบทุนนิยมที่ไม่ได้นำพาชีวิตไปสู่ความผาสุก แต่กลับกักขังให้ขาดอิสรภาพ ในส่วนของสังคมเมืองการนำเสนอภาพแทนความตายในเรื่องสั้นถูกผลิตซ้ำเพื่อขับเน้นให้เห็นความเสี่ยงอันเกิดจากวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่ผู้คนห่างเหินกัน การเกิด ครอบครัวเดี่ยวที่เอื้อให้เกิดความรุนแรงภายในครอบครัว ความอยู่ดีกินดีที่แฝงเร้นด้วยภัยด้านสุขภาวะ ภาพแทนความตายจำนวนมากที่ถูกผลิตซ้ำนี้นำไปสู่การตระหนักถึงการไร้ความหมายของชีวิต อหังการของมนุษย์เหนือธรรมชาติถูกทดสอบด้วยหายนะอย่างรุนแรง ดังกรณีความตายจากสึนามิในปี 2547 หายนะดังกล่าวได้พิสูจน์แล้วว่าการที่มนุษย์รุกล้ำธรรมชาติด้วยวิทยาการที่เจริญก้าวหน้าจะนำพาหายนะอย่างใหญ่หลวงมาสู่มนุษย์ นักเขียนได้แสดงให้เห็นถึงการขบคิดทบทวนต่อความรู้ วิทยาการ ระบบเหตุผล ตลอดจนศาสนาที่เป็นหนึ่งในระบบจำแนกแยกแยะมนุษย์ให้แตกต่างกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ได้มุ่งพัฒนาตนเองให้ห่างไกลจากธรรมชาติและไม่ได้ ทำความเข้าใจธรรมชาติอย่างแท้จริง การนำเสนอภาพแทนการตายจากเรื่องสั้นสึนามิทำให้ตระหนักรู้ว่ามนุษย์คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติและมีแต่มนุษย์ผู้เข้มแข็งเท่านั้นที่จะพาตนเองและเพื่อนมนุษย์ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ ในมิติของการเมืองพบว่า การเมืองที่ปรากฏในเรื่องสั้นร่วมสมัยไม่ได้จำกัดเฉพาะการเมืองระดับมหภาค แต่เป็นการเมืองระดับย่อยที่ปัจเจกบุคคลมีบทบาทมากขึ้น ความตายที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความรุนแรงในเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 หรือปัญหาสิทธิมนุษยชน เหล่านี้ล้วนแสดงถึงความล้มเหลวของรัฐในการคุ้มครองและให้ความปลอดภัยแก่ประชาชน อันนำไปสู่การขบคิดทบทวนต่อบทบาทของรัฐและความท้าทายต่อรัฐสมัยใหม่