Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์สภาวะอีโค-ดิสโทเปียและอีโค-ยูโทเปียในบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ของคิม สแตนลีย์ โรบินสัน ซึ่งสัมพันธ์กับบริบททางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองในช่วงเวลาที่งานเขียนเหล่านั้นเกิดขึ้น การศึกษาพบว่าบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ของโรบินสันออกแบ่งได้เป็นสามกลุ่มซึ่งแสดงให้เห็นพัฒนาการของการมองปัญหาสิ่งแวดล้อม กลุ่มแรกคือ California Trilogy นำเสนอปัญหาที่ส่งผลกระทบกับพื้นที่บ้านเกิด กลุ่มที่สองคือ Mars Trilogy และ 2312 เป็นการเดินทางเพื่อสร้างอีโค-ยูโทเปียนอกโลก เนื่องจากสิ้นหวังที่จะฟื้นฟูโลกจากสภาวะที่ไม่น่าพึงปรารถนา ส่วนกลุ่มที่สามคือ Science in the Capital แสดงให้เห็นการกลับมาซ่อมแซมโลก ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ที่จะเปลี่ยนแปลงสภาวะอีโค-ดิสโทเปียไปสู่สภาวะอีโค-ยูโทเปียได้ อีโค-ดิสโทเปียเป็นสภาวะที่เกิดจากการขาดความสมดุลสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประชากรล้นโลก โลกธรรมชาติถูกทำลาย การขาดแคลนทรัพยากร และภัยพิบัติทางธรรมชาติ สภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจนี้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์เพื่อให้เกิดสังคมอีโค-ยูโทเปีย กล่าวคือเปลี่ยนจากกระบวนทัศน์ที่ใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลางซึ่งมองธรรมชาติเป็นทรัพยากรและมีมูลค่าสำหรับมนุษย์มาเป็นการใช้นิเวศเป็นศูนย์กลางซึ่งให้ความสำคัญกับการมองโลกธรรมชาติอย่างเป็นองค์รวม มนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติ กระบวนทัศน์ดังกล่าวสอดคล้องกับการมองธรรมชาติของโลกตะวันออก ด้านเศรษฐกิจ สภาวะอีโค-ดิสโทเปียเป็นผลมาจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรม ซึ่งโรบินสันเสนอให้ใช้ระบบเศรษฐกิจทางเลือก ได้แก่ ทุนนิยมสีเขียวซึ่งสร้างสมดุลให้ระบบนิเวศ และเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการเอื้อเฟื้อแบ่งปันอย่างเท่าเทียมซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืน ลักษณะเฉพาะในงานของโรบินสัน คือ อีโค-ดิสโทเปียที่แม้จะเป็นหายนะแต่ไม่สิ้นหวัง อีโค-ยูโทเปียเชิงวิพากษ์ที่มีลักษณะเป็นกระบวนการ และมองอย่างมีความหวังว่ามนุษย์จะไปถึง และวิทยาศาสตร์เป็นทางรอดของธรรมชาติและมนุษย์