Abstract:
งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1. เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเปิดเผยข้อมูลของเครื่องมือทางการเงิน และ 2. เพื่อเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงินให้มีความเข้าใจและสามารถใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนได้มากขึ้น กรอบแนวคิดของงานวิจัยนี้ได้พัฒนาจากงานวิจัยในอดีตเกี่ยวกับคุณภาพของรายงานทางการเงิน ข้อมูลในการวิจัยรวบรวมจากแบบสอบถามผู้บริหารระดับสูงฝ่ายบัญชีธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีอัตราการตอบกลับ 92.86 เปอร์เซ็นต์ วิธีการวิเคราะห์ใช้เทคนิคการวิเคราะห์องค์ประกอบ การวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุและการวิเคราะห์สหสัมพันธ์ ผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าปัจจัยที่มีผลต่อการเปิดเผยข้อมูล แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. ความสามารถในการทำกำไร 2. ขนาดกิจการ 3. โครงสร้างการเป็นเจ้าของและประเภทสำนักงานสอบบัญชี และโครงสร้างเงินทุนและโครงสร้างกรรมการอิสระ ซึ่งไม่พบความสัมพันธ์ที่มีสาระสำคัญ จากการทดสอบความถดถอยเชิงพหุกลุ่มปัจจัย แต่ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุปัจจัยทั้ง 6 ปัจจัย คือ 1. ขนาดกิจการ 2. โครงสร้างการเป็นเจ้าของ 3. โครงสร้างเงินทุน 4. ประเภทสำนักงานสอบบัญชี 5. ความสามารถในการทำกำไร และ 6. โครงสร้างกรรมการอิสระ ผลการวิจัยพบว่าขนาดกิจการโครงสร้างเงินทุน ความสามารถในการทำกำไร และโครงสร้างกรรมการอิสระ มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับระดับการเปิดเผยข้อมูล โดยเฉพาะขนาดกิจการและความสามารถในการทำกำไร ซึ่งมีความสัมพันธ์กับระดับการเปิดเผยข้อมูลอย่างมีสาระสำคัญ ทั้งนี้เพื่อความคุมอายุการก่อตั้งธนาคาร ผลการวิจัยเป็นหลักฐานแสดงว่า เมื่อธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีอายุการก่อตั้งมากและมีความสามารถในการทำกำไร ผู้ใช้งบการเงินจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเผยข้อมูลเครื่องมือทางการเงินมากขึ้น