Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และเปรียบเทียบลักษณะทางกลสัทศาสตร์ของส่วนท้ายพยางค์ในภาษาไทยที่ออกเสียงโดยผู้ให้ข้อมูลคนจีนและคนไทย ผู้ให้ข้อมูลคนจีนประกอบด้วยนักศึกษาจีนที่พูดภาษาจีนถิ่นยูนนาน (YC) ภาษาน่าซี (NX) และภาษาไทลื้อ (TL) เป็นภาษาแม่ ประเด็นการวัดทางกลสัทศาสตร์ได้แก่ ค่าความถี่ฟอร์เมินท์ที่ 1 และที่ 2 และค่าระยะเวลาของสระเดี่ยวสั้น-ยาวรวม 18 หน่วยเสียง และสระประสม 3 หน่วยเสียงในภาษาไทย ค่าความถี่ฟอร์เมินท์ที่1 และที่ 2 ในช่วงเชื่อมต่อระหว่างสระกับพยัญชนะท้าย และค่าระยะเวลาของพยัญชนะท้ายทั้งเสียงกักและเสียงนาสิกในภาษาไทย ผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูล 4 กลุ่ม กลุ่มละ 2 คน รวมคำทดสอบทั้งสิ้น 3,384 คำ ผู้วิจัยได้ใช้โปรแกรมพราต (Praat) ในการวัดและวิเคราะห์ค่าทางกลสัทศาสตร์ และทดสอบความแตกต่างของค่าต่างๆระหว่างกลุ่มด้วย T-Test ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ p<0.05 จากผลการวิจัยพบว่า ค่าที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างผู้ให้ข้อมูลคนจีนทั้ง 3 กลุ่มกับคนไทยมีดังนี้ (1) ค่า F1, F2 และค่าระยะเวลาของสระในภาษาไทย (2) ค่า F1-trans, F2-trans ระหว่างสระกับพยัญชนะท้ายทั้งเสียงนาสิกและเสียงกัก (3) ค่าระยะเวลาของพยัญชนะท้ายเสียงนาสิกในภาษาไทย ส่วนค่าระยะเวลาของพยัญชนะท้ายเสียงกักที่ออกเสียงโดยกลุ่ม YC และ TL แตกต่างกับที่ออกเสียงโดยคนไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ที่ออกเสียงโดยกลุ่ม NX แตกต่างกับที่ออกเสียงโดยคนไทยอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการวิจัยช่วยให้ตีความได้ว่า (1) คุณสมบัติสระอันเกิดจากการเคลื่อนที่หน้า-หลัง (แนวนอน) และสูง-ต่ำ (แนวตั้ง) ของลิ้นเมื่อออกเสียงสระ คุณสมบัติสระที่ออกเสียงโดยผู้ให้ข้อมูลคนจีนทั้ง 3 กลุ่มแตกต่างกับคุณสมบัติสระที่ออกเสียงโดยคนไทย (2) นักศึกษาจีนทุกคนออกเสียงสระเสียงสั้นในภาษาไทยสั้นกว่าสระเสียงยาว อย่างไรก็ตาม นักศึกษาจีนออกเสียงสระเสียงสั้นยาวกว่าการออกเสียงของคนไทย แต่ออกเสียงสระเสียงยาวสั้นกว่าการออกเสียงของคนไทย (3) นักศึกษาจีนไม่ค่อยมีความสม่ำเสมอในการออกเสียงพยัญชนะท้าย (4) นักศึกษาจีนทุกคนออกเสียงพยัญชนะที่ปรากฏในโดรงสร้างแบบ CVN สั้นกว่าสระที่ปรากฏใน CV:N แต่ในขณะเดี่ยวกัน ออกเสียงพยัญชนะท้ายที่ปรากฏในแบบ CVS ยาวกว่าใน CV:S