Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาความสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อความมั่นคงทางพลังงานของจีน ในศตวรรษที่ 21 ผ่านกรอบแนวคิดภูมิรัฐศาสตร์ โดยมีสมมติฐานว่าเพื่อแก้ปัญหาในการเข้าถึงแหล่งพลังงานและความไม่มีเสถียรภาพของเส้นทางการลำเลียงพลังงานของจีน ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของจีน เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรพลังงาน และความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ที่ส่งผลต่อเส้นทางการลำเลียงพลังงาน จากการศึกษาพบว่า ความสำคัญที่เพิ่มมากขึ้นของความมั่นคงทางพลังงานทั้งในการเข้าถึงแหล่งพลังงานที่เพียงพอต่อความต้องการ และการมีเสถียรภาพของเส้นทางการลำเลียงพลังงาน ส่งผลให้จีนเลือกที่จะดำเนินยุทธศาสตร์ที่หลากหลายในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่จีนให้ความสนใจ เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งพลังงาน อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมความสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการเป็นแหล่งพลังงานของจีน ดูจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ในแง่ปริมาณความต้องการในการบริโภคพลังงานภายในของจีน และนโยบายการบริโภคถ่านหินที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เผชิญปัญหาเดียวกัน อันได้แก่ การบริโภคพลังงานที่เพิ่มขึ้น การลดลงของปริมาณพลังงาน อันเป็นผลจาก ปัญหาในการสำรวจและการพัฒนาพลังงานจากความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ การโหมผลิตพลังงานเพื่อการส่งออก ในขณะที่บทบาทที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีส่วนสำคัญต่อจีน ก็คือ การสร้างเสถียรภาพของเส้นทางการลำเลียงพลังงาน เพราะมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ 2 ประการ คือ ประการแรก การตั้งอยู่บนเส้นทางการลำเลียงพลังงานของจีน 2 เส้นทางคือ เส้นทางที่ขนส่งพลังงานมาจากละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง ผ่านทางช่องแคบมะละกา ทะเลจีนใต้ เข้าสู่จีนทางด้านตะวันออก และเส้นทางที่ขนส่งพลังงานมาจากออสเตรเลียผ่านทางช่องแคบลอมบอก และเข้าสู่จีนเหมือนเส้นทางแรก ประการที่สอง ความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ระหว่างจีนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะช่วยให้จีนมีทางออกทางทะเล นอกเหนือจากทางฝั่งตะวันออก ผ่านทางความร่วมมือการสร้างความเชื่อมโยงทางด้านคมนาคมต่อกัน และการเข้าไปตั้งฐานทัพเรือในประเทศต่างๆ เพื่อป้องกันภัยคุกคามที่จะส่งผลกระทบต่อการลำเลียงพลังงาน อาทิ โครงการความร่วมมือต่างๆ ในเมียนม่าร์ และความร่วมมือในการเชื่อมถนน ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ฯลฯ