Abstract:
การวิจัยหัวข้อ มานุษยวิทยาการออกแบบ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Action Research: PAR) ตามหลักการและวิธีการของการของงานวิชาการเพื่อสังคมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ค้นหาหลักการมานุษยวิทยาการออกแบบ 2. เพื่อประยุกต์ใช้หลักมานุษยวิทยาการออกแบบในการออกแบบเพื่อสังคม จากการศึกษาหลักการเพื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นกรอบทฤษฎีเบื้องต้นสำหรับการปฏิบัติการ เพื่อให้ผลการปฏิบัติการเป็นตัวช่วยในการพัฒนาทฤษฎี ตามแนวทางของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ซึ่งมุ่งเน้นการแสวงหาความรู้ด้วยการปฏิบัติจริง ผู้วิจัยพบว่า หลักการที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นกรอบทฤษฎีเบื้องต้น ได้แก่ “หลักมานุษยวิทยาการออกแบบ” ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ผสมผสานศาสตร์ของมานุษยวิทยาและศาสตร์ของการออกแบบเข้าด้วยกัน และ “แบบจำลองกระบวนการออกแบบเพื่อสังคม” ซึ่งเป็นการนำหลักวิชาการเพื่อสังคมมาประยุกต์เข้ากับแบบจำลองกระบวนการออกแบบ เพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการออกแบบจากที่มีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ มาเป็นเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ทางสังคม การวิจัยครั้งนี้ มีพื้นที่วิจัยตามหลักการวิจัยสนามทางมานุษยวิทยา ได้แก่ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีระยะเวลาการดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 ถึงปีพ.ศ. 2560 โดยมีการปฏิบัติการทั้งสิ้น 3 วงจร ได้แก่ วงจรที่ 1: งานแต่งงานในหอศิลป์ เพื่อแก้ปัญหาชุมชนไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมของหอศิลป์ วงจรที่ 2: การอบรมสตรีทอาร์ตในหอศิลป์ เพื่อบริการวิชาการตามวัตถุประสงค์ของหอศิลป์ และวงจรที่ 3: โครงการหอศิลป์ต้นแบบเพื่อสังคม เพื่อแก้ปัญหาที่สำคัญ 3 ประการของหอศิลป์ ได้แก่ 1. การขาดงบประมาณสนับสนุน 2. การขาดการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ 3. ความชำรุดทรุดโทรมของตัวอาคาร ในการปฏิบัติการแต่ละวงจร มีขั้นตอนการปฏิบัติการในแต่ละโครงการแบ่งเป็น แบ่งเป็น ขั้นตอนที่ 1 การพัฒนาแผนการปฏิบัติการ (plan) ขั้นตอนที่ 2 การปฏิบัติตามแผน (act) ขั้นตอนที่ 3 การสังเกตผลการปฏิบัติการ (observe) และขั้นตอนที่ 4 การสะท้อนผลการปฏิบัติการ (reflect) ซึ่งเป็นการประเมินผลเชิงคุณภาพ และนำหลักการที่ได้รับการพัฒนาในแต่ละโครงการ ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติการโครงการถัดไปในลักษณะวนซ้ำ จนได้หลักการตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย จากนั้นจึงนำหลักการที่ได้รับการพัฒนา ไปมาสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบในรูปแบบการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ โครงการเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ดีไซน์วีค 2016 เพื่อตรวจสอบความเที่ยงตรงและความน่าเชื่อถือของหลักการ หลักการที่ได้รับการพัฒนาจากการปฏิบัติการในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ 1. การแทรกแซงด้วยการออกแบบ (design intervention) ที่ถูกพัฒนาในการปฏิบัติการวงจรที่ 1 โดยกิจกรรมงานแต่งงาน สามารถเปลี่ยนวิธีคิดของผู้เข้าร่วมเกี่ยวกับการใช้งานพื้นที่เอนกประสงค์ของหอศิลป์ ว่าชุมชนสามารถเข้ามาใช้งานพื้นที่ดังกล่าวในการจัดกิจกรรมได้ 2. การเปลี่ยนบทบาทจากนักออกแบบเป็นผู้จัดการโครงการ (designer as a project manager) ที่ถูกพัฒนาในการปฏิบัติการวงจรที่ 2 โดยในการออกแบบเพื่อสังคมนั้น นักออกแบบจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากการสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบเพียงอย่างเดียว มาเป็นผู้กำหนดทิศทางของการออกแบบ และรับผิดชอบรายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ 3. การออกแบบอย่างมีส่วนร่วม (participatory design) ที่ถูกพัฒนาในการปฏิบัติการวงจรที่ 2 โดยการออกแบบเพื่อสังคมนั้นมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้น ผู้ออกแบบจึงจำเป็นต้องสร้างสรรค์ระบบเปิด เพื่อให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์เนื้อหาของการออกแบบ 4. การใช้สหวิทยาการในการออกแบบ (Multidisciplinary Approach) ที่ถูกพัฒนาในการปฏิบัติการวงจรที่ 3 โดยงานการใช้งานออกแบบเพื่อแก้ปัญหาสังคมนั้น นักออกแบบไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยศาสตร์ที่นักออกแบบเชี่ยวชาญเพียงศาสตร์เดียวได้ นักออกแบบจึงจำเป็นต้องร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่นๆ ในการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน