Abstract:
บริบทสังคมไทยในทศวรรษ 2470 ถือเป็นยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านทางสังคม โดยเฉพาะการเมืองไทยกลุ่มข้าราชการอย่างคณะราษฎรเข้ามามีบทบาทในการบริหารและดำเนินนโยบายพัฒนาสังคมไทยไปสู่ความเป็น สมัยใหม่ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้พระสงฆ์หนุ่มนามพุทธทาสภิกขุได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะเผยแพร่องค์ความรู้ พุทธศาสนารูปแบบใหม่ที่เกิดจากการศึกษาหลักพุทธธรรมด้วยตนเอง ผลงานการประพันธ์ของพุทธทาสภิกขุ ได้รับการยอมรับจากกลุ่มข้าราชการไทยและปัญญาชนไทยในทศวรรษ 2470 จากบริบทของสังคมไทยที่เกิดการตื่นตัวในการศึกษาพุทธศาสนาไทย ปัญญาชนไทยจำนวนหนึ่งได้หันมาสนใจศึกษาพุทธศาสนาที่มีคำอธิบายสอดคล้องกับหลักเหตุผล พวกเขาปวารณาตัวเป็นญาติธรรมของพุทธทาสภิกขุ วิทยานิพนธ์นี้ศึกษาบทบาทของกลุ่มญาติธรรมที่สนับสนุนพุทธทาสภิกขุให้ประสบความสำเร็จในการเผยแพร่พุทธศาสนา กลุ่มญาติธรรมของพุทธทาสภิกขุมีความแตกต่างในอาชีพและอุมการณ์ทางการเมืองถือเป็นลักษณะเฉพาะของกลุ่มญาติธรรมสงฆ์ที่ประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีชื่อเสียงและบทบาททางการเมืองขั้วตรงข้าม แต่พวกเขาสามารถเชื่อมโยงความศรัทธามาที่พระสงฆ์รูปเดียวกันได้อย่างไม่เป็นปัญหา พุทธทาสภิกขุมีวิธีการรักษาสัมพันธภาพภายในกลุ่มญาติธรรมด้วยการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของพวกเขาไปที่ประเด็นความสนใจในการศึกษาธรรมมากกว่าแนวคิดทางการเมืองของพวกเขา หัวข้อบันทึกรายวันเรื่อง“คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง”เป็นผลงานเขียนของพุทธทาสภิกขุที่แสดงให้เห็นทรรศนะของท่านในการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่ว่าแนวคิดทางการเมืองไม่ใช่สิ่งที่ พุทธทาสภิกขุให้ความสำคัญในการประเมินคุณค่าและตัดสินบุคคล แต่ธรรมทางศาสนาเป็นสิ่งที่ทำให้คนเป็นคนดี ดังนั้นแล้วบุคคลใดที่ศึกษาพุทธศาสนาก็สามารถเป็นญาติธรรมของพุทธทาสภิกขุได้